ปัญหาโรคทางเดินอาหารในสุนัข และแมวเป็นสิ่งที่พบได้บ่อยมากขึ้น โดยเฉพาะโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (Inflammatory Bowel Disease หรือ IBD) ซึ่งเป็นโรคที่พบมากเป็นอันดับสองรองจากการแพ้อาหาร (Food Allergy)
โดยโรคนี้เกิดจากการอักเสบเรื้อรังของลำไส้ ซึ่งอาจส่งผลให้การย่อย และการดูดซึมสารอาหารผิดปกติ ทำให้สัตว์เลี้ยงป่วยเป็นเวลานาน และส่งผลเสียต่อคุณภาพชีวิตในระยะยาว บทความนี้จะพาคุณพ่อคุณแม่ทุกคนมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับสาเหตุ อาการ การรักษา และการดูแลน้องหมา น้องแมวของเราที่เป็นโรค IBD
สาเหตุการเกิดโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (IBD)
โรค IBD ในน้องหมาหรือน้องแมว ปัจจุบันยังไม่รู้สาเหตุที่แท้แน่ชัดว่าเกิดจากอะไร แต่พอไปดูที่ลำไส้ของน้อง ๆ ที่เป็นโรคนี้ จะพบว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้น
โดยปกติแล้วผนังลำไส้ของน้องหมา หรือ น้องแมวจะมีหลายชั้น ทำหน้าที่สำคัญหลายอย่าง เช่น ป้องกันสารพิษ, สร้างน้ำย่อย, ดูดซึมอาหาร, และบีบตัวให้อาหารเคลื่อนที่ไป รวมถึงระบบภูมิคุ้มกัน ก็เป็นส่วนหนึ่งและอยู่ภายในลำไส้ด้วย
แต่ในน้องหมาหรือน้องแมวที่เป็น IBD จะมี ‘เซลล์อักเสบ’ (เซลล์ที่ทำให้เกิดการอักเสบ) ในผนังลำไส้เยอะผิดปกติ เซลล์พวกนี้อาจไปทำลายผนังลำไส้ ทำให้เกราะป้องกันเสียหาย
พอลำไส้ไม่แข็งแรง จะทำให้น้องหมาหรือน้องแมวแพ้สิ่งต่าง ๆ (เช่น อาหารบางอย่าง) ได้ง่ายขึ้น สุดท้ายก็เลยแสดงอาการป่วยออกมาให้เห็น เช่น ท้องเสีย อาเจียน
โรคนี้มักพบในน้องหมา และน้องแมววัยกลาง ๆ แต่ความจริงโรคลำไส้อักเสบเรื้องรังสามารกเกิดได้กับทุกวัย ทั้งตัวผู้ตัวเมียต่างมีความเสี่ยงเท่ากัน
สุนัข(น้องหมา) อายุเท่าไรถึงนับเป็นสุนัขแก่สูงวัย?
และอาจมีปัจจัยอื่นที่ส่งเสริมให้เป็นโรคนี้ง่ายขึ้นด้วย เช่น..
- ปัจจัยทางพันธุกรรม
- สุนัข – สุนัขบางสายพันธุ์มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (IBD) มากกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ เช่น
- เยอรมันเชพเพิร์ด
- ยอร์กเชียร์เทอร์เรีย
- ซอฟต์โค้ทวีเทนเทอร์เรีย
- ชาร์เป่ย์จีน
- บาเซนจิ
- นอร์วีเจียน ลาวด์ฮุนด์
- แมว – แมวพันธุ์สยามมีความเสี่ยงต่อการเกิด IBD สูงกว่าแมวพันธุ์อื่น ๆ
- ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน และอาหาร
โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (IBD) อาจเกิดจากการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติ เช่น ภาวะตอบสนองต่อภูมิคุ้มกันไวเกิน ทำให้เกิดการอักเสบภายในทางเดินอาหารได้ ซึ่งอาจเกิดจากปฏิกิริยาที่มากเกินไปต่อแบคทีเรียดีในลำไส้ ทำให้ลำไส้ไวต่อสารก่อภูมิแพ้ในอาหารที่ได้รับเป็นเวลานาน จนเป็นสาเหตุของการอักเสบภายในลำไส้
นอกจากนี้ การเกิดอาการแพ้อาหารยังเกี่ยวข้องกับขนาด และโครงสร้างของโปรตีนที่พวกเค้าได้รับ ตัวอย่างเช่น สารก่อภูมิแพ้ในโปรตีนถั่วเหลืองอยู่ระหว่าง 20 ถึง 78 กิโลดาลตัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า หากโปรตีนถั่วเหลืองที่มีน้ำหนักโมเลกุลต่ำกว่าเกณฑ์นี้ ก็มีโอกาสน้อยที่จะกระตุ้นการตอบสนองของภูมิคุ้มกัน
- ปัจจัยทางสภาพแวดล้อม
สภาพแวดล้อมที่ทำให้น้องหมา น้องแมวเครียดอาจเป็นปัจจัยกระตุ้นโรค โดยเฉพาะในแมว นอกจากนี้ การได้รับอาหารที่มีกรดไขมันสูงเกินไป เช่น ของทอด ของมันหรืออาหารแปรรูปต่าง ๆ เช่น ไส้กรอก เบคอน รวมถึงการได้รับยาปฏิชีวนะ ก็อาจส่งผลให้เกิดความไม่สมดุลในลำไส้ และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรค IBD ได้
- ปัจจัยทางจุลินทรีย์
การเปลี่ยนแปลงของจุลินทรีย์ในลำไส้ รวมถึงการจำกัดอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนน้อยลง และให้อาหารที่มีกรดไขมันมากขึ้น เช่น การกินเนื้อสัตว์ติดมันเป็นหลัก และลดปริมาณข้าวกล้องหรือผักใบเขียวลง อาจทำให้ปริมาณกรดไขมันสายสั้น ที่จำเป็นต่อสุขภาพลำไส้โดยรวมลดลง จนส่งผลให้เกิดความไม่สมดุลในลำไส้ และเพิ่มความเสี่ยงต่อโรค IBD ได้นั่นเอง
อาการของโรคลำไส้อักเสบเรื้อรังในสุนัข และแมว
อาการที่พบบ่อยในสุนัข และแมวที่เป็นโรค IBD ได้แก่
- อาเจียน
- ท้องเสียเรื้อรัง ซึ่งอาจต่อเนื่องนานกว่า 4 สัปดาห์
- ความอยากอาหารลดลง
- น้ำหนักลด
- ท้องอืดหรือปวดท้องแบบมีเสียงโครกคราก
โดยความรุนแรงของอาการอาจแตกต่างกันไป บางรายอาจมีอาการต่อเนื่อง บางรายอาจเป็น ๆ หาย ๆ นอกจากนี้ ในบางรายอาจพบ อาการของโรคผิวหนังภูมิแพ้ร่วมด้วย เช่น หูแดง คัน ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของการแพ้อาหาร อาการผิวหนังเหล่านี้ โดยส่วนใหญ่มักพบได้ในแมว
การรักษาโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (IBD)
1. การควบคุมอาหาร
อาหาร เป็นปัจจัยสำคัญในการดูแลโรค IBD โดยควรเลือกอาหารที่ย่อยง่ายหรืออาหารที่ใช้โปรตีนใหม่ (Novel Protein Diet) ซึ่งเป็นโปรตีนที่พวกเค้าอาจไม่เคยได้รับมาก่อน และควรปรึกษาสัตวแพทย์เกี่ยวกับอาหารที่เหมาะสมสำหรับสัตว์เลี้ยง เพราะสุนัข และแมวส่วนใหญ่ที่มีอาการ IBD ค่อนข้างรุนแรง จำเป็นที่จะต้องได้รับการบำบัดด้วยยาเสริม ควบคู่ไปกับการควบคุมอาหาร สิ่งสำคัญคือต้องเข้าใจว่าการบำบัดโรค IBD จะต้องปรับให้เหมาะกับการตอบสนองของน้องหมา น้องแมว แต่ละรายตามอาการที่เป็น
- อาหารที่ย่อยง่าย
เช่น การเพิ่มปริมาณไฟเบอร์ในอาหาร นอกจากนี้ สุนัขและแมวบางตัวอาจต้องกินอาหารไขมันต่ำ เมื่อมีอาการอักเสบในลำไส้เล็กและดูดซึมโปรตีนได้ไม่ดี หรือระบบน้ำเหลืองเสียหาย (lymphangiectasia) สิ่งสำคัญคือต้องหารือกับสัตวแพทย์เกี่ยวกับอาหารทุกชนิดที่สัตว์เลี้ยงได้รับ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงใด ๆ เพื่อให้แน่ใจว่าพวกเค้าได้รับอาหารที่เหมาะสม
- การเสริมโคบาลามิน (วิตามินบี 12)
เป็นสิ่งสำคัญสำหรับสุนัข และแมวที่มีระดับโคบาลามินต่ำ เพราะอาจส่งผลให้ระบบเผาผลาญทำงานได้ไม่เต็มที่ และอาจตอบสนองต่อการรักษาได้ไม่ดี ซึ่งสัตวแพทย์สามารถแนะนำการให้วิตามินนี้ได้ทั้งในรูปแบบฉีดใต้ผิวหนังหรือแบบรับประทานได้
2. การใช้ยาลดการอักเสบ และยากดภูมิคุ้มกัน
เนื่องจากโรค IBD เกิดจากการอักเสบของลำไส้ จึงควรให้ยาที่ช่วยลดการอักเสบ เช่น คอร์ติโคสเตียรอยด์ เพื่อช่วยบรรเทาอาการ นอกจากนี้ โรคนี้ยังเกี่ยวข้องกับการตอบสนองของภูมิคุ้มกันที่ไวเกินไป ดังนั้น ยากดภูมิคุ้มกัน เช่น เพรดนิโซโลน อาจถูกนำมาใช้ในการรักษา ซึ่งช่วยในเรื่องการอักเสบ และอาการภูมิแพ้ในสัตว์เลี้ยงได้
3. อาหารเสริมโปรไบโอติก
การเสริมโปรไบโอติก ช่วยปรับสมดุลจุลินทรีย์ในลำไส้ ทำให้แบคทีเรียดีในลำไส้ทำงานได้ดี และช่วยบรรเทาอาการที่เกี่ยวกับโรคระบบทางเดินอาหารลงได้ นอกจากนี้ กรดไขมันสายสั้น ที่พบในอาหารทั่วไปอาจช่วยลดค่า pH ของลำไส้ ซึ่งขัดขวางการเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ
การเสริมพรีไบโอติกในอาหาร และการให้อาหารที่มีโอลิโกฟรุคโตส ซึ่งเป็นพรีไบโอติกชนิดหนึ่งแก่พวกเค้า จะช่วยลดความเข้มข้นของแอมโมเนีย และเอมีนในอุจจาระ รวมถึงเพิ่มจำนวนบิฟิโดแบคทีเรีย ซึ่งเป็นแบคทีเรียดีในอุจจาระน้องหมา
4. การดูแลอย่างต่อเนื่อง
เนื่องจากในปัจจุบัน โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (IBD) ยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ดังนั้นสิ่งสำคัญที่จะช่วยบรรเทาอาการของโรค และทำให้พวกเค้ามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น คือการเลือกอาหารที่เหมาะสม และปรับแผนการรักษาร่วมกับสัตวแพทย์
หลังจากที่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง หรือ IBD เบื้องต้นแล้ว สามารถสรุปได้ว่า IBD เป็นโรคที่ต้องการการดูแลใกล้ชิดจากเจ้าของ และสัตวแพทย์ โดยการปรับอาหาร และการรักษาตามคำแนะนำของสัตวแพทย์จะช่วยให้พวกเค้ามีสุขภาพที่ดีขึ้น
ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ ควรใส่ใจ และสังเกตการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรม และสุขภาพของพวกเค้าอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้สามารถจัดการกับโรคได้อย่างเหมาะสมนั่นเอง
หากคุณพ่อคุณแม่ท่านไหน กำลังมองหาอาหารที่เต็มไปด้วย โปรตีนคุณภาพ ย่อยง่าย และเหมาะสมกับน้อง ๆ แล้วล่ะก็ ลองเลือก Pawdy อาหารสุนัข และแมวที่ผลิตจาก เนื้อสัตว์แท้ 100% เพื่อให้ทุกมื้อของน้อง ๆ เต็มไปด้วยสารอาหารที่ดี และมีประโยชน์ สนใจสั่งซื้อได้ง่าย ๆ ที่นี่
ขอขอบคุณข้อมูลจาก :
Erika Haschke Pickens. Inflammatory Bowel Disease (IBD) in Dogs and Cats (2024) Retrieved from https://www.medvet.com/inflammatory-bowel-disease-ibd-dogs-cats/
Kayode Garraway.Inflammatory Bowel Disease in Dogs and Cats (2017) Retrieved from https:d//todaysveterinarypractice.com/gastroenterology/inflammatory-bowel-disease-dogs-cats/
Davies the veterinary specialist.Information for pet owners inflammatory bowel disease (2020) Retrieved from https://www.vetspecialists.co.uk/fact-sheets-post/inflammatory-bowel-disease-fact-sheet/