รวมปัญหาสุขภาพที่คนเลี้ยงหมาหน้าสั้นต้องรู้! พร้อมวิธีดูแล

รวมปัญหาสุขภาพที่คนเลี้ยงหมาหน้าสั้นต้องรู้! พร้อมวิธีดูแล

หมาพันธุ์หน้าสั้นเป็นหนึ่งในสายพันธุ์ที่ผู้คนนิยมเลี้ยงกันเป็นจำนวนมากในปัจจุบัน แต่ความน่ารักของพวกเค้าที่ทำให้คุณพ่อคุณแม่หลายคนต่างหลงใหล กลับซ่อนเร้นปัญหาสุขภาพมากมายที่เราต้องเตรียมพร้อมรับมือ เพราะปัญหาสุขภาพเหล่านี้อาจส่งผลต่ออายุขัยที่สั้นลงถึง 4.5 ปีกว่าสุนัขสายพันธุ์อื่น การศึกษาข้อมูลก่อนเบื้องต้นจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ควรทำก่อนต้อนรับสมาชิกใหม่เข้ามาในครอบครัว

โดยในบทความนี้พอดี้ จะพาคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ไปทำความรู้จักปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ของสุนัขหน้าสั้น พร้อมวิธีดูแลพวกเค้าเบื้องต้น เพราะหากเราพร้อมที่จะดูแลพวกเค้าอย่างใกล้ชิด น้องหมาก็พร้อมที่จะมอบความสุขให้คุณอย่างแน่นอน

สุนัขหน้าสั้นคืออะไร ?

สุนัขหน้าสั้น (Brachycephalic) คือสุนัขที่มีลักษณะของกะโหลกที่แบน และกลม ดวงตามีลักษณะใหญ่ โปน เบ้าตาตื้นกว่าปกติ ปาก และจมูกสั้นกว่าปกติ บางสายพันธุ์อาจมีฟันล่างที่ยื่นออกมา และด้วยโครงสร้างใบหน้าเหล่านี้ ทำให้สุนัขหน้าสั้นมักประสบปัญหาในการหายใจ อาจมีเสียงขู่ หอบหรือหายใจลำบากขณะออกกำลังกาย นอกจากนี้ ยังเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่ตา และปัญหาผิวหนังจากรอยย่นบนใบหน้า 

สายพันธุ์หมาหน้าสั้นยอดนิยม

ตัวอย่าง สายพันธุ์หมาหน้าสั้นที่นิยมเลี้ยงกันในปัจจุบัน

  • ปั๊ก (Pug)
  • บูลด็อก (Bulldog)
  • เฟรนช์ บูลด็อก (French Bulldog)
  • บูลมาสทิฟฟ์ (Bullmastiff)
  • บอสตัน เทร์เรียร์ (Boston Terrier)
  • บ๊อกเซอร์ (Boxser)  
  • ไชนีส ชาเป่ย (Chiness Shar-pei)
  • คิง ชาร์ลส์ สแปเนียล (English Toy Spaniel)
  • ปักกิ่ง (Pekingese)
  • เจแปนนีส ชิน (Japaness Chin)
  • ชิสุห์ (Shih Tzu)
  • อเมริกัน ค็อกเกอร์สเปเนียล (American Cocker Spaniel)
  • อาฟเฟ่นพินเชอร์ (Affenpinscher)
  • ลาซา เอปโซ (Lhasa Apso)
  • บรัสเซล กรีฟฟอน (Brussels Griffon)
  • ทิเบตัน สแปเนียล (Tibetan Spaniel)

โดยปัญหาสุขภาพของสุนัขหน้าสั้น ที่มักพบได้บ่อยจะถูกแบ่งออกเป็นโรคที่พบได้ในแต่ละระบบของแต่ละอวัยวะต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

1.โรคที่เกี่ยวข้องกับการมองเห็น 

1.1 โรคเปลือกตาม้วนเข้าด้านใน (Entropion) เกิดได้จากความผิดปกติตั้งแต่เกิดของสุนัข ทำให้เปลือกตาม้วนเข้าไปด้านใน ส่งผลให้ขนตาไปสัมผัสจนเกิดการระคายเคืองบริเวณกระจกตา และเยื่อบุตาอย่างต่อเนื่อง จนอาาจก่อให้เกิดภาวะเยื่อบุตาอักเสบ (conjunctivitis) หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง อาจเกิดแผลที่กระจกตา และอาจนำไปสู่การติดเชื้อแทรกซ้อนได้

1.2 โรคตาแห้ง (Keratoconjunctivitis Sicca) เป็นโรคตาเรื้อรังในสุนัข เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ ทำให้ต่อมน้ำตาผลิตน้ำตาไม่เพียงพอ ส่งผลให้แผ่นน้ำตาที่ปกป้องตา เสียสมดุล ทำให้ตาแห้ง เคือง และอักเสบได้ สุนัขพันธุ์หน้าสั้นมักเป็นโรคนี้บ่อยกว่าพันธุ์อื่น และอาการมักรุนแรง คุณพ่อคุณแม่จึงควรหมั่นสังเกตอาการว่าสุนัขว่ามีอาการตาแดงหรือมีขี้ตาเกิดขึ้นหรือไม่

1.3 ภาวะที่ลูกตาหลุดจากเบ้าตาอย่างฉับพลัน (Proptosis) โดยมีเปลือกตายึดไว้ ทำให้ดันลูกตาออกมาอยู่ด้านนอกและกลับเข้าไปไม่ได้ สาเหตุส่วนใหญ่มักเกิดจากอุบัติเหตุ เช่น ตกจากที่สูง การกระทบกระแทกแรง ๆ หรือการที่มีลักษณะเบ้าตาตื้นโดยเฉพาะกับสุนัขหน้าสั้น อาการที่สังเกตเห็นได้ชัดคือ ตาจะดูโปนออกมา เจ็บตา ตาเหล่ และไม่สามารถกระพริบตาได้ ภาวะนี้ถือว่าเป็นภาวะที่ฉุกเฉิน เมื่อพบภาวะดังกล่าวในสุนัขหน้าสั้นที่เราเลี้ยง ให้รีบไปหาสัตวแพทย์เพื่อทำการรักษาในทันที

วิธีการดูแลโรคที่เกี่ยวข้องกับการมองเห็น 

  • หมั่นสังเกตอาการ และพฤติกรรมของสุนัขอย่างสม่ำเสมอว่ามีอาการตาแห้งหรือตาแดงเกิดขึ้น และมีขี้ตาเกิดขึ้นมากจนผิดสังเกตหรือไม่
  • พาไปตรวจสุขภาพตาเป็นประจำ เพื่อตรวจหาโรคในระยะเริ่มต้น
  • รักษาความสะอาดรอบดวงตา เช็ดทำความสะอาดขี้ตาเป็นประจำ
  • หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น เช่น ฝุ่น ควัน หรือสารเคมี
  • ให้ยาตามที่สัตวแพทย์สั่ง หากสุนัขป่วยเป็นโรคตา
  • การผ่าตัดรักษา ในกรณีที่โรคมีความรุนแรง

2.โรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจ

กลุ่มอาการทางเดินหายใจอุดตันในสัตว์สายพันธุ์หน้าสั้น (Brachycephalic Obstructive Airway Syndrome – BOAS) เป็นปัญหาสุขภาพที่พบได้บ่อยในสุนัขหน้าสั้น เกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรมที่ทำให้โครงสร้างใบหน้าและทางเดินหายใจส่วนบนแคบกว่าปกติ ส่งผลให้สุนัขหายใจลำบากและอาจมีอาการอื่น ๆ ตามมา เช่น หายใจเสียงดัง หอบเหนื่อยง่าย จนอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ โดยจะมีโรคดังต่อไปนี้

2.1 โรครูจมูกตีบแคบ (Stenosis of the nares) เกิดจากมีเนื้อเยื่อภายในรูจมูกเจริญเติบโตมากผิดปกติ ทำให้ทางเดินหายใจแคบลง ส่งผลทำให้สุนัขหายใจได้ไม่สะดวก

2.2 โรคหลอดลม (Tracheal Collapse) เป็นภาวะที่หลอดลมของสุนัขสูญเสียความแข็งแรง ทำให้เกิดการยุบตัวหรือหดตัวได้ง่าย โดยเฉพาะขณะที่สุนัขหายใจเข้าหรือออก ส่งผลให้สุนัขเกิดอาการไอแห้งและเหนื่อยหอบง่าย พบได้บ่อยในสุนัขพันธุ์หน้าสั้นที่มีอายุวัยกลางถึงสูงอายุ (อายุประมาณ 4-5 ปี) 

2.3 ภาวะเพดานอ่อนของปากยื่นยาว (Elongated soft palate) เป็นภาวะที่เพดานอ่อนยาวเกินปกติ เมื่อสุนัขพักผ่อนหรือหลับ เพดานอ่อนที่ยาวจะหย่อนลงมาบังทางเดินหายใจ ทำให้เกิดการสั่นสะเทือน และเกิดเสียงขณะหายใจเรียกว่า เสียงกรนหรือเสียงฮืดนั่นเอง

วิธีการดูแลโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจ

  • สังเกตอาการของสุนัขอย่างใกล้ชิด เช่น หายใจเสียงดัง หอบเหนื่อยง่าย ไอแห้ง เหนื่อยหอบง่ายขณะออกกำลังกายหรือมีสีม่วงที่เหงือก และลิ้น
  • รักษาอุณหภูมิร่างกายให้คงที่ เพราะสุนัขที่มีปัญหาทางเดินหายใจมักจะร้อนง่าย ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหนักในสภาพอากาศร้อน และจัดเตรียมที่นอนที่เย็นสบายให้สุนัข
  • หลีกเลี่ยงการให้สุนัขสูดดมควันบุหรี่หรือสารเคมี เพราะอาจเป็นการกระตุ้นให้สุนัขอาการหนักขึ้นได้
  • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เพราะความอ้วนจะยิ่งทำให้สุนัขหายใจลำบากมากขึ้น

คุณพ่อคุณแม่สามารถดูวิธีการควบคุมน้ำหนักให้น้องหมาเพิ่มเติมได้ ที่นี่

3.โรคที่เกี่ยวข้องกับภายในช่องปาก

3.1 ฟันขึ้นผิดแนว (Rotated teeth) สุนัขหน้าสั้นมักมีปัญหาฟันเรียงตัวผิดปกติหรือที่เรียกว่า ‘ฟันขึ้นผิดแนว’ ซึ่งเกิดจากการเจริญเติบโตของฟันที่ผิดพลาด ทำให้ฟันซี่นั้นเอียงหรือบิดเบี้ยว ไม่ตรงแนวกับฟันซี่อื่น ๆ ปัญหานี้พบได้บ่อยบริเวณฟันกรามน้อยบน และอาจทำให้สุนัขมีปัญหาในการเคี้ยวอาหาร รวมถึงเสี่ยงต่อการเกิดโรคปริทันต์ได้

3.2 ฟันไม่สบกัน (Malocclusion) เป็นภาวะผิดปกติที่ทำให้ฟันเรียงตัวไม่เป็นระเบียบ อาจเกิดจากฟันบิดเบี้ยวหรือความผิดปกติของกระดูกกราม ทำให้ขากรรไกรบน และล่างไม่ตรงกัน ปัญหานี้พบได้บ่อยในสุนัขหน้าสั้นบางสายพันธุ์ เช่น บูลด็อก

วิธีการดูแลโรคที่เกี่ยวข้องกับภายในช่องปาก

  • การตรวจสุขภาพช่องปากเป็นประจำ พาสุนัขไปพบสัตวแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพช่องปากอย่างน้อยปีละครั้ง
  • การทำความสะอาดฟัน แปรงฟันให้สุนัขเป็นประจำหรือใช้ของเล่นสำหรับทำความสะอาดฟัน
  • การปรับอาหาร ควรเลือกอาหารที่เหมาะสมกับสุนัขที่มีปัญหาฟัน อาจเป็นอาหารเม็ดขนาดเล็กหรืออาหารที่นิ่ม
  • การรักษาทางทันตกรรม ในกรณีที่ปัญหารุนแรง สัตวแพทย์อาจแนะนำให้ทำการรักษา เช่น การถอนฟัน การจัดฟัน หรือการผ่าตัดเพื่อแก้ไขความผิดปกติของกระดูกกราม

4.โรคที่เกี่ยวข้องกับผิวหนัง

4.1 โรคผิวหนังเป็นยีสต์ในสุนัข (Malassezia dermatitis) โรคนี้มักพบเชื้อยีสต์จำนวนมากบริเวณรอยพับ เช่น ก้น รูก้น และอวัยวะเพศ  ซึ่งเป็นตำแหน่งที่อับชื้น เหมาะสำหรับการเจริญเติบโตของเชื้อยีสต์ โดยเฉพาะในสภาพอากาศร้อนชื้นของประเทศไทย ทำให้สุนัขมีอาการคัน ผิวหนังแดง เป็นรังแค และส่งกลิ่นเหม็น 

4.2 ผื่นผิวหนังอักเสบบริเวณซอกพับ (Intertrigo หรือ Skin fold dermatitis) ปัญหาผิวหนังที่พบบ่อยในบริเวณที่มีรอยพับ เช่น ในบริเวณหาง ใบหน้า ลำตัว ก้นซึ่งเป็นบริเวณผิวหนังที่มีรอยย่นเกิดการเสียดสี มีการอับชื้นทำให้ผิวหนังอักเสบ จนอาจเกิดการสะสมของเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งสภาพแวดล้อมเหล่านี้ทำให้เชื้อสามารถเจริญได้ดี

วิธีการดูแลโรคที่เกี่ยวข้องกับผิวหนัง

  • ทำความสะอาดรอยพับอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากโรคผิวหนังในสุนัขหน้าสั้นมักเกิดขึ้นบริเวณรอยพับ และรอยย่น ซึ่งเป็นที่สะสมของแบคทีเรีย และเชื้อรา
  • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เพราะสุนัขอ้วนจะมีรอยพับลึก ทำให้ทำความสะอาดยากขึ้น และเสี่ยงต่อการเกิดโรคผิวหนังมากขึ้น
  • ควบคุมอาหารให้เหมาะสมกับอายุและน้ำหนัก
  • ส่งเสริมให้น้องหมาออกกำลังกายเป็นประจำ

พอดี้ขอแนะนำ แชมพู และสเปรย์ สำหรับน้องหมา ซึ่งมีส่วนช่วยในการดูแลปัญหาเกี่ยวกับผิวหนัง และเส้นขนของน้องให้สะอาด ปราศจากโรค สนใจสั่งซื้อหรือหาข้อมูลผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับน้องได้ ที่นี่

ดังนั้นการดูแลสุนัขพันธุ์หน้าสั้นอย่างถูกวิธี ไม่เพียงแต่จะช่วยให้น้องหมาสุขภาพดี แต่ยังช่วยยืดอายุให้พวกเค้าได้อีกด้วย การตรวจสุขภาพเป็นประจำ และการดูแลรักษาอย่างสม่ำเสมอ จะทำให้น้องหมามีความสุข และอยู่กับเราได้นานขึ้นนั่นเอง

และสำหรับใครที่กำลังตามหาอาหารหรือผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสม และพอดีกับน้อง ขอแนะนำ พอดี้ ผลิตภัณฑ์สำหรับน้องหมาที่ดีพอ และพอดี สนใจสั่งซ์้อได้ ที่นี่

Shopping Cart

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า
Scroll to Top