สุนัขมีกลิ่นเหม็น อาจเป็นสัญญาณของโรคเชื้อราในสุนัข

สุนัขมีกลิ่นเหม็น อาจเป็นสัญญาณของโรคเชื้อราในสุนัข

คุณพ่อคุณแม่คนไหนที่กำลังประสบปัญหากับกลิ่นเหม็นของลูกรักหรืออาการคันบริเวณต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นคันที่ผิวหนัง หู จนผิวแดง แห้ง ลอก เป็นขุย รวมถึงขนที่หลุดร่วง 

ปัญหาเหล่านี้ ส่วนใหญ่แล้วมีสาเหตุมาจากพวกเชื้อราในสุนัขนั่นเอง ซึ่งปกติน้องหมาทุกตัวจะมีเชื้อราและยีสต์อยู่บนผิวหนังเป็นปกติอยู่แล้ว แต่ถ้าพวกเค้าป่วยขึ้นมาหรือภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรง เชื้อพวกนี้ก็จะเติบโตเร็วขึ้น จนกลายเป็นโรคผิวหนังได้ 

โดยในบทความนี้ จะพาคุณพ่อคุณแม่ไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคผิวหนังจากเชื้อราและยีสต์ในสุนัขอย่างละเอียด เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่สามารถดูแลลูกรักของเราได้อย่างถูกต้อง และเหมาะสมนั่นเอง ถ้าพร้อมแล้วก็ ไปเริ่มกันเลยยย

เชื้อราในสุนัขที่ทำให้เกิดโรคผิวหนัง

หนึ่งในโรคผิวหนังที่พบบ่อย คือ โรคกลากเกลื้อนหรือ Dermatophytosis ซึ่งเป็นการติดเชื้อราที่ผิวหนัง ไม่เพียงแต่จะทำให้น้องหมาคัน และอึดอัดใจ แต่ยังสามารถแพร่กระจายไปสู่คนในครอบครัวได้อีกด้วย

โดยจะส่งผลให้ผิวหนังของคนมีลักษณะเป็นวงแดง ๆ และมีอาการคันได้ ส่วนในสุนัขที่ติดเชื้อ ขนจะหลุดร่วงแหว่งเป็นจุด ๆ เป็นวง มีผื่นแดง, มีสะเก็ด หรืออาจมีตุ่มคล้ายสิวขึ้นบนผิวหนัง ซึ่งมักเกิดขึ้นบริเวณศีรษะ, อุ้งเท้า, หู และขา

ซึ่งโรคนี้เกิดจากเชื้อราชนิด Dermatophytes ซึ่งชอบกินเคราตินเป็นอาหาร ทำให้เชื้อมักพบในบริเวณที่มีเคราติน เช่น ผิวหนัง เล็บ และขน โดยโรคนี้มักเกิดจากเชื้อในตัวใดตัวหนึ่งใน 3 ชนิด คือ

  1. Microsporum canis พบได้บ่อยที่สุด (ประมาณ 70%)
    มักติดจากสปอร์ของเชื้อราที่ปนเปื้อนอยู่ในสิ่งแวดล้อมหรือติดมากับอุปกรณ์ที่ใช้กับสัตว์
  2. Microsporum gypseum พบประมาณ 20%
    มักพบในดิน และอาจติดสู่สุนัขที่สัมผัสกับดินหรือเลี้ยงแบบเปิด
  3. Trichophyton mentagrophytes พบประมาณ 10%
    มักพบในสัตว์ฟันแทะ เช่น หนู กระรอก สุนัขอาจติดเชื้อได้จากการสัมผัสกับสัตว์เหล่านี้ได้

การวินิจฉัยโรคกลากเกลื้อน

ปัจจุบันการตรวจโรคกลากเกลื้อนทำได้ง่ายขึ้นด้วยวิธี การส่องกล้องเส้นขน โดยสัตวแพทย์จะเก็บเส้นขนเล็ก ๆ จากบริเวณที่เป็นโรค นำไปส่องดูภายใต้กล้องจุลทรรศน์ เพื่อตรวจหาเชื้อราโดยตรง ซึ่งเป็นวิธีที่ให้ผลการตรวจที่รวดเร็ว และแม่นยำ 

การรักษา และป้องกันโรคกลากเกลื้อน

โรคกลากเกลื้อนในสุนัข ถึงแม้จะสามารถหายได้เอง แต่การรักษาอย่างถูกต้องจะช่วยให้สุนัขหายเร็วขึ้น และป้องกันการแพร่กระจายไปยังสัตว์เลี้ยงตัวอื่น ๆ โดยมีวิธีดังนี้

  1. แยกสุนัขที่ติดเชื้อออกจากสัตว์เลี้ยงอื่น ๆ
  2. ตัดขนบริเวณที่เป็นแผลให้เกลี้ยง แล้วใช้ยาครีมฆ่าเชื้อราทา
  3. หากเป็นหลายจุด อาจต้องตัดขนทั้งตัว และอาบน้ำด้วยแชมพูขจัดรังแคหรือแชมพูที่มีส่วนผสมของ Miconazole และ Chlorhexidine สัปดาห์ละ 2 ครั้ง
  4. ควรล้างมือบ่อย ๆ โดยเฉพาะหลังสัมผัสกับสุนัข เพื่อป้องกันการติดเชื้อ

โรคผิวหนังจากเชื้อราและยีสต์ในสุนัข

โรคผิวหนังในสุนัขที่พบบ่อย คือ โรคผิวหนังอักเสบจากเชื้อยีสต์ มาลาสซีเซีย พาไคเดอมาติส (Malassezia pachydermatis) มักพบเชื้ออยู่ตามรอยพับของผิวหนัง เช่น หู อุ้งเท้า รักแร้ ขาหนีบ 

สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคผิวหนังอักเสบ

  1. อากาศร้อน และชื้น เพราะจะทำให้ผิวหนังของสุนัขผลิตน้ำมันมากขึ้น ซึ่งเป็นอาหารของเชื้อราและยีสต์ ทำให้ยีสต์เจริญเติบโตได้ดี
  2. สุนัขบางสายพันธุ์ เช่น Cocker Spaniel, Basset Hound, Dachshund จะมีรูปร่างลักษณะที่ทำให้เกิดความชื้นสะสม เช่น หูยาวและตกลงมา ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดเชื้อราได้ง่าย
  3. การว่ายน้ำ เพราะน้ำที่เข้าหูจะทำให้เกิดความชื้นสะสม เป็นแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อรา
  4. การอาบน้ำบ่อย ๆ อาจทำให้ผิวหนังแห้ง และระคายเคือง จนอาจเกิดโรคผิวหนังตามมาได้
  5. ระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอหรือทำงานผิดปกติจะทำให้สุนัขต่อสู้กับเชื้อโรคได้ยากขึ้น
  6. สถานที่อยู่อาศัยที่ไม่สะอาดหรือมีสารก่อภูมิแพ้ เช่น ควัน, เชื้อรา, ฝุ่น, รังแค จะกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้และอักเสบของผิวหนัง

อาการที่พบ โดยแบ่งตามตำแหน่งที่ติดเชื้อ

  1. บริเวณผิวหนัง
  • คันรุนแรง
  • มีผื่นแดงหรือตุ่มแดง
  • ผิวแห้งลอกเป็นขุยหรือมีสะเก็ด
  • ผิวมัน
  • ผิวมีสีเข้มขึ้น เกิดจากการที่สุนัขเลียบริเวณที่คันบ่อยครั้ง
  • ผิวหนังหนาแข็ง เหมือนผิวหนังช้าง 
  • ขนร่วง ขนจะร่วงเป็นหย่อมๆ หรือร่วงทั้งตัว
  • มีกลิ่นเหม็นหืนหรือเหม็นอับ
  1. บริเวณหู

มักทำให้เกิดโรคหูชั้นนอกอักเสบในสุนัข (Otitis externa) โดยจะแสดงอาการ ดังนี้

  • มีขี้หูเยอะ มีลักษณะข้น สีน้ำตาลเหลืองหรือสีดำ
  • คันหู สะบัดหูบ่อย
  • สั่นหัว และเอียงหัว เพื่อพยายามลดอาการคัน
  • ช่องหูแดง และอักเสบ
  • มีกลิ่นแรง
  • สูญเสียการได้ยิน ในกรณีที่มีการอักเสบรุนแรง
  1. บริเวณอุ้งเท้า 

มักเกี่ยวข้องกับอาการแพ้สิ่งแวดล้อม เช่น แพ้หญ้า หรือละอองเกสร สุนัขจะกัดหรือเลียอุ้งเท้าที่คันอยู่ตลอดเวลา ทำให้เกิดรอยสีน้ำตาลระหว่างอุ้งเท้า

การวินิจฉัยโรคผิวหนังจากเชื้อรา และยีสต์

สัตวแพทย์จะวินิจฉัยโรคเชื้อราและยีสต์ในสุนัขโดยอาศัยข้อมูลหลายอย่างประกอบกัน ได้แก่ การซักประวัติ, การตรวจร่างกาย, การตรวจเลือด รวมถึงการเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจหาเชื้อ ซึ่งมีหลายวิธี ดังนี้

  1. การขูดเก็บตัวอย่าง (Skin scraping) : เป็นการขูดผิวหนังบริเวณที่เป็นโรคเล็กน้อย เพื่อนำไปตรวจหาเชื้อราและยีสต์ภายใต้กล้องจุลทรรศน์
  2. การใช้เทปใสกดแปะเก็บตัวอย่าง (Tape impression) : เหมาะสำหรับบริเวณที่ไม่มีขนหรือมีขนน้อย โดยใช้เทปใสกดลงบนผิวหนังบริเวณรอยโรคแล้วนำไปตรวจ
  3. การใช้ก้านสำลีเก็บตัวอย่าง (Cotton swab) : ใช้สำหรับเก็บตัวอย่างจากช่องหูหรือบริเวณที่เป็นซอกมุม เช่น ซอกเล็บ, ง่ามนิ้ว, ใต้ฝ่าเท้า
  4. การตรวจเซลล์วิทยา (Cytology) : เป็นการตรวจหาเซลล์ผิดปกติ และเชื้อโรคในตัวอย่างที่เก็บมา
  5. การเพาะเชื้อ (Culture) : เพื่อยืนยันชนิดของเชื้อราหรือยีสต์ที่เป็นสาเหตุของโรค  และเลือกยาที่ใช้ในการรักษาได้อย่างเหมาะสม
  6. การตัดชิ้นเนื้อผิวหนัง (Skin biopsy) : สำหรับกรณีที่การรักษาด้วยวิธีอื่นไม่ตอบสนองหรือต้องการวินิจฉัยโรคที่ซับซ้อน

การรักษาโรคผิวหนังจากเชื้อรา และยีสต์

โรคผิวหนังจากเชื้อราและยีสต์ในสุนัขนั้นสามารถรักษาให้หายขาดได้ หากได้รับการรักษาที่ถูกต้องและต่อเนื่อง การรักษาโดยทั่วไปจะประกอบด้วยวิธีการดังต่อไปนี้

  1. อาบน้ำด้วยแชมพูสูตรเฉพาะ : เลือกใช้แชมพูสุนัขที่ออกแบบมาเพื่อลดปัญหาเชื้อราและยีสต์ ขอแนะนำ แชมพู Pawdy DERMALAZ ที่มีส่วนผสมจากธรรมชาติอย่างขมิ้น ช่วยลดอาการคัน ผิวหนังหลุดลอก และยังอ่อนโยนต่อผิว ลดเชื้อรา และยีสต์ได้ถึง 99%*
  2. ไม่ระคายเคืองตา เหมาะสำหรับน้องหมาทุกวัย สนใจสั่งซื้อได้ ที่นี่
  3. ยาทาเฉพาะจุด : หากน้องหมาเป็นเชื้อราเฉพาะบริเวณหูหรือจุดเล็ก ๆ บนผิวหนัง ลองใช้ยาทาเฉพาะที่ตามคำแนะนำของสัตวแพทย์
  4. ยาสำหรับกิน : สำหรับกรณีที่อาการอักเสบรุนแรงหรือเรื้อรัง สัตวแพทย์อาจจ่ายยาต้านเชื้อรา และยาปฏิชีวนะให้กินร่วมด้วย เพื่อกำจัดเชื้อรา และแบคทีเรียที่อาจซ่อนอยู่ภายในร่างกาย ประมาณ 4 ถึง 12 สัปดาห์ โดยยาต้านเชื้อราที่ให้น้องหมากิน เช่น Ketoconazole, Terbinafine, Itraconazole และ Fluconazole

*ใช้วิธีการทดสอบ ASTM E2315 Suspension Time-Kill Test โดยเจือจางผลิตภัณฑ์ 1 ส่วนต่อน้ำ 5 ส่วน ของขนาดบรรจุ 250 มิลลิลิตร เวลาสัมผัสสาร 5 นาที ในอุณหภูมิ 30 องศา เมื่อใช้เป็นประจำอย่างต่อเนื่อง โดยผลลัพธ์ขึ้นอยู่กับสภาพผิวหนังของสัตว์เลี้ยงแต่ละสายพันธุ์

การป้องกันโรคผิวหนังจากเชื้อราและยีสต์

  1. เช็ดตัวสุนัขให้แห้งสนิท หลังอาบน้ำหรือเล่นน้ำ
  2. แปรงขนสุนัขบ่อย ๆ เพื่อขจัดเซลล์ผิวที่ตาย และสิ่งสกปรกออกไป
  3. ทำความสะอาดหูสุนัข ด้วยผ้าสะอาดหรือสำลี
  4. หมั่นทำความสะอาดสิ่งแวดล้อมโดยรอบที่น้องหมาอาศัยอยู่
  5. ให้กินอาหารที่มีคุณภาพ ช่วยบำรุงเส้นขน และผิวหนัง อย่าง Pawdy Holistic ซึ่งมีส่วนผสมจากโปรตีนคุณภาพ ช่วยให้น้องหมาดูดซึม และนำไปใช้ได้ดี อีกทั้งยังมีส่วนช่วยในการบำรุงผิวหนัง และเส้นขน

หลังจากที่เราได้รู้จักกับโรคกลากเกลื้อน และปัญหาผิวหนังจากโรคเชื้อราในสุนัขกันไปแล้ว เพื่อให้น้องหมามีผิวหนังที่สุขภาพดีแข็งแรง คุณพ่อคุณแม่อย่างเรา ๆ ต้องใส่ใจสังเกตอาการของน้องหมากันมากขึ้น และพาน้องหมาไปหาสัตวแพทย์เพื่อทำการรักษาทันทีหากมีอาการผิดปกติ เพื่อป้องกันไม่ให้อาการแย่ลงนั่นเอง

ขอบคุณข้อมูลจาก 

1. Krista Williams, Tammy Hunter, Ernest Ward. (n.d.). Yeast Dermatitis in Dogs. Retrieved August 11, 2024, from https://vcahospitals.com/know-your-pet/yeast-dermatitis-in-dogs

2. Kenny M. (n.d.). Yeast Dermatitis in Dogs: Signs and Treatment. Retrieved August 11, 2024, from https://www.germantownah.com/site/blog-memphis-vet/2022/03/15/yeast-dog-dermatitis

3. Brittany Kleszynski. (2024, January 26). Yeast Infections in Dogs. Retrieved August 11, 2024, from https://www.petmd.com/dog/conditions/skin/yeast-infections-dogs

4. Karen A. Moriello. (2020, August). Dermatophytosis in Dogs and Cats. Retrieved August 11, 2024, from https://www.msdvetmanual.com/integumentary-system/dermatophytosis/dermatophytosis-in-dogs-and-cats

Shopping Cart

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า
Scroll to Top