ใครจะรู้ว่าพุงนุ่มนิ่มน่ากอดของน้องหมา จะซ่อนอันตรายร้ายแรงเอาไว้! โรคอ้วน ในสุนัข เป็นปัญหาสุขภาพที่พบได้บ่อย และอาจนำไปสู่โรคร้ายแรงอื่น ๆ ตามมาได้มากมาย เช่น โรคหัวใจ โรคข้อเข่าเสื่อม โรคเบาหวาน รวมถึงทำให้อายุขัยสั้นลง
โดยสาเหตุของโรคอ้วนในสุนัข ส่วนใหญ่เกิดจากการให้อาหารมากเกินไป ไม่เหมาะสม และขาดการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การตามใจน้องหมาด้วยของกินหรือการให้อาหารคนกิน อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้สุนัขน้ำหนักเกินได้
ดังนั้นการเลี้ยงดูอย่างถูกต้องจะสามารถป้องกัน และแก้ไขปัญหาโรคอ้วนได้ บทความนี้จะมาแนะนำวิธีการดูแลสุนัขให้มีรูปร่างที่สมส่วน แข็งแรง และอยู่กับเราไปนาน ๆ
วิธีเช็กว่าสุนัขอ้วนหรือไม่?
วิธีที่ง่ายที่สุดสำหรับคุณพ่อคุณแม่ในการตรวจสอบว่าลูกรักของคุณมีโอกาสที่จะมีภาวะน้ำหนักเกินหรือกลายเป็นสุนัขอ้วนจากโรคอ้วนได้หรือไม่ คือการใช้เกณฑ์การประเมินภาวะรูปร่าง (Body condition score ; BCS) ซึ่งมีเกณฑ์ดังนี้
ที่มาภาพ: researchgate.net
1 คะแนน : ผอม จนอาจมีภาวะขาดสารอาหารได้
มีน้ำหนักตัวต่ำกว่ามาตรฐาน 20% และสามารถสังเกตกระดูกซี่โครงได้ด้วยตาเปล่าโดยไม่ต้องคลำ
2 คะแนน : มีภาวะน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์
มีน้ำหนักตัวต่ำกว่ามาตรฐาน 10% และสามารถสังเกตกระดูกซี่โครงได้เล็กน้อย เมื่อคลำจะพบว่ามีเนื้อเยื่อบาง ๆ ปกคลุมระหว่างผิวหนัง และกระดูก
3 คะแนน : สมส่วน
มีน้ำหนักตัวตามมาตรฐาน และเมื่อสัมผัสที่กระดูกซี่โครงจะรู้สึกได้ถึงไขมันปกคลุมบาง ๆ
4 คะแนน : มีภาวะน้ำหนักเกินกว่าเกณฑ์
มีน้ำหนักตัวมากกว่ามาตรฐาน 10% และแทบมองไม่เห็นหรือคลำกระดูกซี่โครงได้
5 คะแนน : โรคอ้วน
มีน้ำหนักตัวมากกว่ามาตรฐาน 20% และกระดูกซี่โครงไม่สามารถคลำหรือมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า
ทำไมสุนัขถึงอ้วน? พฤติกรรมเหล่านี้คือสาเหตุ
สงสัยหรือไหมว่าทำไมสุนัขที่ได้รับอาหารครบถ้วนแล้ว ยังมีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐานอยู่ดี นั่นอาจเป็นเพราะพฤติกรรมบางอย่างที่คุณพ่อคุณแม่อย่างเราอาจมองข้ามไปก็ได้
พฤติกรรมเสี่ยงทำสุนัขอ้วน
- ขี้เกียจขยับตัว สุนัขที่ชอบนอนทั้งวัน ไม่ค่อยอยากเล่นหรือขาดการออกกำลังกายเป็นประจำ ทำให้มีโอกาสเป็นโรคอ้วนสูง
- ขออาหารเก่ง การขออาหารจากคนบ่อย ๆ หรือชอบขอขนมบ่อย ๆ จะทำให้ได้รับพลังงานเกินความจำเป็น
- ชอบแย่งอาหารสุนัขตัวอื่น สุนัขที่กินไม่เลือกหรือไปแย่งอาหารของสุนัขตัวอื่น รวมถึงการกินเร็ว ไม่ทันได้เคี้ยว ก็อาจทำให้กินมากเกินไปโดยไม่รู้ตัวจนก่อให้เกิดโรคอ้วนได้
- คุ้ยหาเศษอาหารเก่ง การชอบคุ้ยหาเศษอาหารที่เรากินเหลือหรือเศษอาหารที่ตกหล่น เป็นพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการได้รับสารพิษ และเสี่ยงต่อโรคอ้วนได้ง่าย
ผลกระทบของโรคอ้วนในสุนัข
โรคอ้วนส่งผลเสียต่อสุขภาพของสุนัขอย่างมาก เพราะอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพร้ายแรง เช่น
- โรคข้อเข่าเสื่อม – น้ำหนักตัวที่มากเกินไป ทำให้ข้อต่อรับน้ำหนักไม่ไหว
- โรคเบาหวาน – การดื้ออินซูลินอาจเกิดขึ้นได้จากภาวะอ้วน
- โรคหัวใจ – ไขมันที่สะสมรอบหัวใจอาจทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้น
- ปัญหาตับ และไต – เนื่องจากภาระในการกำจัดของเสียเพิ่มขึ้น
วิธีดูแลสุนัขอ้วน
แน่นอนว่าปัญหาสุนัขอ้วนเป็นเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่หลายคนกังวลใจ เพราะนอกจากจะส่งผลต่อรูปลักษณ์ภายนอกแล้ว ยังเป็นสาเหตุของโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ตามมาอีกด้วย การดูแลสุนัขอ้วนจึงต้องอาศัยความใส่ใจ และความเข้าใจในวิธีการที่ถูกต้อง
1.แค่ขยับ ก็เท่ากับออกกำลังกาย
การออกกำลังกายเป็นสิ่งสำคัญสำหรับสุนัขทุกตัว แต่สำหรับสุนัขแต่ละสายพันธุ์ก็มีความต้องการที่แตกต่างกัน
- สุนัขพันธุ์ทั่วไป ที่แข็งแรงสามารถออกกำลังกายได้เต็มที่ เช่น วิ่งเล่น ว่ายน้ำหรือเล่นเกมจับลูกบอล ตามคำแนะนำของสัตวแพทย์
- สุนัขพันธุ์หน้าสั้น เช่น ชิสุห์หรือปั๊ก อาจมีปัญหาเรื่องการหายใจ หากออกกำลังกายหนักหรืออยู่ในอากาศร้อน ควรเลือกกิจกรรมที่เบาลง เช่น เดินเล่นช้า ๆ ในช่วงเช้าหรือเย็น และสังเกตอาการหายใจ หากมีอาการผิดปกติ ควรหยุดทันที และปรึกษาสัตวแพทย์
การออกกำลังกายนั้นนอกจากสามารถช่วยควบคุมน้ำหนักแล้ว การออกกำลังกายยังสามารถช่วยลดความเครียด เพิ่มความผ่อนคลาย และทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคุณพ่อคุณแม่กับสุนัขได้อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม หากสุนัขไม่คุ้นเคยกับการออกกำลังกาย การบังคับอาจทำให้เกิดความเครียดได้ คุณพ่อคุณแม่จึงควรค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของสุนัขอย่างค่อยเป็นค่อยไป รวมถึงการปรับเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงของคุณพ่อคุณแม่เองเช่นกัน
2.ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเลี้ยง
การเลี้ยงสุนัขไม่ใช่แค่เรื่องของการให้อาหาร และที่อยู่อาศัย แต่การมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับสุนัขนั้นสำคัญยิ่งกว่า เพราะจะช่วยสร้างความผูกพัน และทำให้ทั้งคุณพ่อคุณแม่ และสุนัขมีความสุขมากขึ้น
การหากิจกรรมทำร่วมกับสุนัขจึงเป็นสิ่งสำคัญเพื่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดี และทำให้สุนัขได้มีการทำกิจกรรมที่เกิดการขยับตัว เช่น การพาสุนัขออกนอกบ้านมาเดินตามสวนสาธารณะที่อนุญาตให้สัตว์เข้าได้
นั่นเพราะลึก ๆ แล้วสุนัขเกือบทุกตัวอยากใช้เวลาอยู่กับพวกเรานาน ๆ มากกว่าที่จะนอนรอให้เรากลับบ้านมาหา ดังนั้นการพาสุนัขออกมาเที่ยวนอกบ้านด้วยกัน จะทำให้สุนัขได้อยู่ใกล้เรานานขึ้น รู้สึกมีความสุขทุกครั้งที่ได้ออกมานอกบ้าน และไม่ตื่นคน
ทำให้การออกมาเที่ยวนอกบ้านเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขของสุนัขมากยิ่งขึ้น ซึ่งส่งผลให้สุนัขสนุกไปกับกิจกรรมที่คุณพ่อคุณแม่ให้ทำ จากนั้นการหากิจกรรมให้สุนัขเพื่อให้ได้ออกกำลังกายจะไม่ใช่เรื่องยาก และไม่ก่อให้เกิดความเครียดอีกต่อไป
3.เลือกอาหารที่เหมาะสมต่อการควบคุมน้ำหนัก
ปริมาณการให้อาหารต่อมื้อ
- ในการให้อาหารควรแบ่งให้วันละ 2 – 4 มื้อ เพื่อกระตุ้นระบบเผาผลาญ และกระตุ้นให้สุนัขอิ่มท้องได้นานขึ้น
- ในกรณีที่สุนัขกินอาหารเม็ด ที่ฉลากหลังถุงจะมีปริมาณที่ควรให้กินต่อวันโดยเทียบกับน้ำหนักตัว แต่หากเป็นอาหารทำเอง (Homemade) จะต้องมีการคำนวณปริมาณแคลอรี และสารอาหารอย่างละเอียด ต้องใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพดี ปราศจากการปรุงแต่ง
ซึ่งหากต้องการควบคุมน้ำหนัก แนะนำให้เปลี่ยนจากอาหารทำเองเป็นอาหารเม็ดจะดีกว่า เพราะควบคุมปริมาณได้ง่าย มีปริมาณที่แน่นอน สะดวก ราคาถูก และสารอาหารคงที่
สารอาหารสำคัญสำหรับสุนัขที่ควบคุมน้ำหนัก
- โปรตีนสูง โปรตีนมีบทบาทสำคัญในการรักษามวลกล้ามเนื้อ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของร่างกายสุนัข การลดปริมาณโปรตีนในอาหารอาจทำให้น้ำหนักลดลงเร็วเกินไป ซึ่งเป็นการลดน้ำหนักของกล้ามเนื้อมากกว่าไขมัน การลดน้ำหนักที่เหมาะสมควรเป็นการลดน้ำหนักตัวประมาณ 1% ต่อสัปดาห์ การเลือกอาหารที่มีโปรตีนสูงจึงช่วยให้สุนัขรักษามวลกล้ามเนื้อไว้ได้ขณะลดน้ำหนัก
- ไขมันต่ำ ไขมันเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญ แต่หากได้รับไขมันมากเกินไปก็อาจทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นได้ การเลือกอาหารที่มีไขมันต่ำจึงช่วยควบคุมปริมาณแคลอรีที่สุนัขได้รับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากให้สุนัขกินอาหารเม็ดเพียงอย่างเดียว การควบคุมปริมาณไขมันจะง่ายกว่า แต่หากให้อาหารโฮมเมดหรืออาหารเปียกร่วมด้วย ควรระมัดระวังปริมาณไขมันที่เพิ่มเข้ามาเป็นพิเศษ
- กากใยสูง กากใยช่วยให้สุนัขรู้สึกอิ่มนาน ลดความอยากอาหาร และช่วยปรับปรุงระบบการย่อยอาหารของสุนัข ทำให้สุนัขขับถ่ายได้เป็นปกติ นอกจากนี้ กากใยยังให้พลังงานต่ำ จึงช่วยในการควบคุมน้ำหนักได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สามารถอ่าน วิธีเลือกอาหารสุนัข ได้ที่นี่
4.ลดหรืองดขนม
โดยปกติแล้วช่วงควบคุมน้ำหนักควรงดขนมทุกชนิด แต่หากสุนัขมีอาการติดขนมมาก ๆ จนเกิดอาการเครียด อาจค่อย ๆ ลดความถี่ในการให้ขนมลงหรือให้ขนมที่มีแคลอรีต่ำแทน
หรือใช้ขนมเป็นรางวัลหลังจากที่น้องหมาออกกำลังกายเสร็จ เพื่อกระตุ้นให้น้องหมาอยากออกกำลังกายมากขึ้น แต่ถ้าวันไหนไม่ได้ออกกำลังกายก็งดให้ขนม ซึ่งวิธีนี้ถือเป็นการฝึกนิสัยสุนัขให้อยากออกกำลังกายได้เป็นอย่างดี
แต่อย่างไรก็ตามเมื่อให้สุนัขกินขนมแล้ว ควรลดปริมาณอาหารหลักลงเล็กน้อย เพื่อให้น้องหมาได้รับพลังงานไม่เกินความต้องการในแต่ละวัน
5.ลดหรืองดอาหารเปียก
เพราะอาหารเปียกนั้นแคลอรีสูงกว่าอาหารเม็ดในปริมาณที่เท่ากัน ทำให้สุนัขอาจได้รับพลังงานเกินความจำเป็น และเสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วนได้ง่าย หากต้องการให้อาหารเปียก ควรเลือกชนิดที่สามารถทดแทนอาหารมื้อหลักได้ และให้ในปริมาณที่เหมาะสมตามคำแนะนำบนฉลาก
ดังนั้นอาหารเปียกที่ทดแทนมื้ออาหารไม่ได้จึงจำเป็นต้องให้กินแบบผสมอาหารเม็ดร่วมด้วย โดยการให้อาหารเม็ดเป็นหลัก และโรยอาหารเปียกคลุกผสมเพื่อเพิ่มความน่ากินเท่านั้นพอ
จึงอาจสรุปได้ว่า การเลือกอาหารเม็ดที่ดีมีผลต่อสุขภาพของน้องหมาอย่างมาก โดยเฉพาะปัญหาโรคอ้วนที่พบได้บ่อยในปัจจุบัน อาหารเม็ดสูตรพิเศษที่ส่วนผสมจากเนื้อสัตว์โดย ไม่มีส่วนผสมของผลพลอยได้จากสัตว์ปีกป่นหรือส่วนผสมของข้าวโพด และข้าวสาลี มีโซเดียมต่ำ จะช่วยให้น้องหมาได้รับสารอาหารครบถ้วน สร้างกล้ามเนื้อได้ดี และที่สำคัญยังช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคต่าง ๆ ได้อีกด้วย นอกจากนี้ กลิ่นหอมน่ากินของอาหารยังทำให้น้องหมาทานอาหารได้อย่างเอร็ดอร่อย ไม่ต้องพึ่งอาหารเปียกหรือขนมเสริมเลยค่ะ
และสำหรับใครที่กำลังตามหาอาหารสุนัขที่ช่วยดูแลปัญหาเกี่ยวกับน้ำหนักตัวของน้อง พอดี้ ขอแนะนำ Pawdy Care More Weight control อาหารสุนัข สูตรควบคุมน้ำหนักตัว สนใจสั่งซื้อได้ที่นี่