สุนัขแก่ คือสุนัขที่มีอายุถึงเกณฑ์การเข้าสู่ช่วงสูงวัย ซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละสายพันธุ์ โดยสายพันธุ์เล็กจะเข้าสู่ช่วงสูงวัยช้า ในช่วงอายุประมาณ 7-8 ปี ในขณะที่พันธุ์ใหญ่จะเข้าสู่ช่วงสูงวัยเร็วกว่า คืออายุประมาณ 5-6 ปี ร่างกายก็เริ่มมีความเสื่อมตามวัยแล้ว แต่ทั้งนี้สุนัขแต่ละตัวแม้จะเป็นสายพันธุ์เดียวกัน ก็อาจกลายเป็นสุนัขแก่ได้เร็วหรือช้าแตกต่างกันไป
สามารถอ่าน การแบ่งช่วงอายุสุนัข ได้ที่นี่ !
สัญญาณเตือนเมื่อสุนัขเข้าสู่ช่วงสูงวัย
- สภาพร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไป
- ขนสีอ่อนลง
- กระจกตาเริ่มขุ่นขาว
- ฟันที่มีหินปูนเริ่มหลุดร่วง
- การเคลื่อนไหวช้าลง การทำกิจกรรมต่าง ๆ ลดลง
- ความสนใจสิ่งรอบตัวลดลง
- เปลี่ยนอิริยาบถยากขึ้น
- กินอาหารลดลง
- นอนเยอะขึ้น
- เริ่มมีอาการเจ็บป่วย
ยิ่งสุนัขที่มีอายุมากขึ้นมากเพียงใด ความเปลี่ยนแปลงของร่างกาย และพฤติกรรมก็จะยิ่งชัดเจนมากขึ้น ซึ่งเกิดจากความเสื่อมของเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกาย
โดยสุนัขแก่บางตัวอาจมีพฤติกรรมเพียงนอน และขับถ่ายเท่านั้น ซึ่งสร้างความกังวลให้กับเหล่าแม่ ๆเป็นอย่างมาก และอาจต้องการทราบสาเหตุ รวมถึงการดูแลในกรณีที่สุนัขของตนแก่มาก กินอาหารได้น้อย และนอนเกือบตลอดทั้งวัน ว่าสามารถช่วยเหลือพวกเขาได้อย่างไรบ้าง
สาเหตุที่สุนัขแก่ไม่กินอาหาร หรือกินอาหารลดลง
สิ่งแรกที่ควรทำคือการตรวจหาสาเหตุของความเจ็บป่วยก่อน เพราะส่วนใหญ่การกินลดลง เบื่ออาหารมักเกิดจากความเจ็บป่วยด้วยโรคต่าง ๆ ซึ่งใน สุนัขแก่ต้องคำนึงถึงโรคเรื้อรัง เช่น
- โรคไต
- โรคตับ
- โรคเบาหวาน
- ความผิดปกติของฮอร์โมน
หรือถ้าสาเหตุมาจากความเจ็บป่วยควรทำการรักษาตามแต่ละโรค แต่ถ้าสุนัขแก่ของคุณไม่ได้เจ็บป่วย สุนัขของคุณอาจได้รับกลิ่นอาหารที่ลดลงจากประสาทสัมผัสการรับกลิ่นที่เสื่อมประสิทธิภาพลงตามวัย หรือการรับรสเปลี่ยนไป อาหารไม่อร่อยเหมือนเดิม
รวมถึงบางตัวอาจอยากกินอาหาร แต่เมื่อกินแล้วมีอาการเจ็บฟัน เจ็บเหงือก ก็อาจทำให้เรียนรู้ที่จะไม่กินอาหารชนิดนี้อีก
สาเหตุที่สุนัขแก่นอนมากขึ้น
โดยปกติแล้วสุนัขจะมีระยะเวลาการนอน 12-14 ชั่วโมงต่อวัน แต่ในสุนัขเด็ก และสุนัขแก่อาจนอนมากขึ้น ราว 16-18 ชั่วโมงต่อวัน
ร่างกายของสุนัขแก่จะใกล้เคียงกับคนสูงวัย คือมีการใช้พลังงานลดลง เพลียง่ายขึ้นจึงนอนนานขึ้น แต่ในสุนัขแก่หลายตัวพบว่า การนอนนานขึ้นอาจเกิดจากความเจ็บป่วยเช่นกัน ได้แก่ ความผิดปกติของฮอร์โมน เช่นโรคฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำหรือโรคสมองเสื่อมที่ทำให้มีวงจรการหลับตื่นผิดปกติไป
รวมไปถึงโรคข้อเสื่อมที่ทำให้สุนัขเจ็บปวดในการขยับตัวจึงทำให้สุนัขเลือกที่จะนอนนิ่ง ๆมากกว่าจะลุกขึ้นมาทำกิจกรมต่าง ๆ
วิธีดูแลเมื่อสุนัขแก่ไม่กินอาหาร และเอาแต่นอน
ควรตรวจร่างกายเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง ว่าเกิดจากโรคหรือไม่ ถ้าสุนัขเจ็บป่วยต้องทำการรักษาตามสาเหตุของโรคที่พบ แต่กรณีที่ไม่ได้เกิดจากความเจ็บป่วย เจ้าของสุนัขสามารถช่วยเหลือสุนัขได้ ดังนี้
1. ปรับเปลี่ยนอาหารให้มีความน่ากินสูงขึ้น
กลิ่นหอม และควรเลือกลักษณะเม็ดที่ไม่แข็งมาก รูปร่างไม่เล็กหรือใหญ่จนเกินไป ทำให้เคี้ยวได้ง่าย ไม่เจ็บฟัน และอาจเลือกอาหารเปียกมาเสริมได้
ซึ่งนอกจากการเลือกอาหารจากคุณลักษณะภายนอกแล้ว ควรดูสารอาหารให้เหมาะสมตามช่วงวัย และมีสารอาหารในกลุ่มบำรุงสมอง กระดูก และข้อต่อ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเซลล์ในระบบต่าง ๆ ให้ดีขึ้น ซึ่งอาจทำให้สุนัขแก่กลับมา ร่าเริง กระฉับกระเฉงได้อีกครั้ง
สามารถอ่าน วิธีการเลือกอาหารให้สุนัข ได้ที่นี่ !
2. เพิ่มอาหารเสริม
เพื่อช่วยเร่งการฟื้นฟู และบำรุงระบบต่าง ๆ ในร่างกายที่เสื่อมตามวัย ให้กลับมาทำงานได้ดีขึ้น ซึ่งกรณีสุนัขแก่ควรให้อาหารเสริมในกลุ่มบำรุงสมอง สายตา กระดูก และข้อต่อ เป็นต้น
3. ชวนสุนัขทำกิจกรรมเบา ๆ
จะช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกายสุนัข ทำให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆได้ดีขึ้น ชะลอความเสื่อมของเซลล์ต่าง ๆ ได้
สุนัขแก่นั้นต้องการการดูแลเอาใจใส่ที่มากขึ้น เพราะความเปลี่ยนแปลงของร่างกายที่เขาเองก็คงไม่อยากให้เกิดขึ้น ดังนั้นในฐานะเจ้าของที่มีความผูกพันกับเขามาตลอด จึงควรใส่ใจ และดูแลเขาให้มากขึ้น
เราเชื่อว่าคุณเป็นคนที่เข้าใจเขามากที่สุด และเมื่อคุณความเข้าใจถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น คุณจะสามารถรับมือกับการดูแลลูกสุนัขในร่างของสุนัขสูงวัยตัวนี้ได้อีกครั้งอย่างแน่นอน