วิธีดูแลสุนัขแก่ ไม่ว่าจะเป็นคนหรือสุนัขเมื่อแก่ตัวลง ร่างกายก็อาจไม่ได้ดังใจเหมือนเดิม การเคลื่อนไหวต่าง ๆ มักช้าลง ประสาทสัมผัส และการรับรู้ต่าง ๆ ก็แย่ลงตามความเสื่อมของร่างกายไปด้วย ทั้งการมองเห็น การได้ยิน ไม่เว้นแม้กระทั่งการดมกลิ่น และการรับรส
รวมถึงโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ก็จะเริ่มปรากฏออกมา ซึ่งโรคเรื้อรังเหล่านี้ ไม่เพียงแต่มีผลให้สุนัขเจ็บปวดไม่สบายกายเท่านั้น แต่ส่งผลให้สุนัขเบื่ออาหาร กินได้ลดลง ร่างกายก็จะขาดสารอาหารและซ้ำเติมกับโรคที่เป็นอยู่ด้วย
ดังนั้นเมื่อสุนัขของคุณเข้าสู่ช่วงสูงวัย ก็ควรได้รับการดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษ ซึ่งจะต้องเฝ้าระวังหรือดูแลสุนัขแก่ของคุณอย่างไรบ้าง ไปดูกันได้เลยค่ะ
วิธีดูแลสุนัขแก่
1. การเลือกอาหาร
สุนัขแก่ไม่ต้องการสารอาหาร และพลังงานที่มากเท่ากับสุนัขเด็กหรือโตเต็มวัย ทั้งโปรตีนและ ไขมันจะต้องการลดลง แต่ต้องไม่ลดคุณภาพ ดังนี้
- สุนัขแก่ควรได้รับโปรตีนคุณภาพสูงที่ย่อยง่าย ชนิดของโปรตีนควรมีการย่อยได้สูง และดูดซึมได้สูง ซึ่งในปัจจุบันพบว่ามีอาหารสุนัขแก่ที่นำ Hydrolyzed protein มาใช้ ซึ่งถือว่าเป็นโปรตีนชนิดที่ย่อยง่ายเพราะมีสายของกรดอะมิโนสั้น และยังลดโอกาสเกิดการแพ้ได้ด้วย
- สุนัขแก่ควรได้รับเปอร์เซ็นต์ไขมันที่ลดลง เพราะร่างกายเผาผลาญสารอาหารต่าง ๆได้ลดลง และควรเลือกชนิดไขมันที่มีประโยชน์ มีส่วนประกอบของโอเมก้า 3 , 6 และ 9 อย่างสมดุล เนื่องจากจะช่วยในเรื่องของความคงตัวของเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกาย ทำให้อวัยวะในระบบต่าง ๆ ทำงานได้ดี
- สุนัขแก่ควรได้รับวิตามินแร่ธาตุที่เหมาะสม ซึ่งแร่ธาตุสำคัญที่มีผลต่อการทำงานของเซลล์ในร่างกายที่หลายคนอาจมีความเข้าใจผิดว่า ไม่ควรใส่เพราะอาจมีผลเสียต่อไต คือ โซเดียมนั้น เป็นแร่ธาตุสำคัญที่จำเป็นต้องมี เพียงแต่ต้องควบคุมปริมาณโซเดียมให้เหมาะสมสำหรับอาหารของสุนัขแก่เท่านั้น
นอกจากนี้อาหารของสุนัขแก่ ควรมีกลิ่นที่หอมและแรงในระดับหนึ่งเพื่อเพิ่มความน่ากิน และไม่ควรมีผิวสัมผัสที่แข็งหรือเหนียวมากเกินไป เพราะสุนัขแก่ส่วนใหญ่มักมีฟันที่ไม่แข็งแรงเช่นเดิม
สามารถอ่าน วิธีการเลือกอาหารให้สุนัข เพิ่มเติมได้ที่นี่
2. การให้อาหาร
เนื่องจากสุนัขแก่จะมีการทำงานของทางเดินอาหารที่แย่ลง การย่อย และดูดซึมไม่ดี จึงแนะนำให้เพิ่มมื้ออาหาร และลดจำนวนอาหารในแต่ละมื้อลง เพื่อให้สุนัขได้ย่อยและดูดซึมสารอาหารต่าง ๆ ได้ดีขึ้น
3. การตรวจสุขภาพ
นับว่าเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับสุนัขในช่วงสูงวัย เพราะโรคบางโรค อาจไม่แสดงอาการจนกว่าระดับของโรคจะรุนแรงจนร่างกายสุนัขทนไม่ไหว จึงแสดงอาการทำให้เจ้าของสังเกตเห็น และเป็นระยะที่รุนแรงเกินกว่าจะรักษาได้
ซึ่งหลาย ๆ โรคนั้น สามารถตรวจพบในระยะเริ่มต้นได้จากการตรวจสุขภาพ ได้แก่ การตรวจเลือด การเอกซเรย์ช่องอกและช่องท้อง รวมถึงการอัลตราซาวด์ ซึ่งการตรวจพบโรคที่ระยะเริ่มต้นนี้ จะช่วยในการวางแผนการรักษาได้เหมาะสมมากกว่า ทำให้สามารถยืดอายุของสุนัข และเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีในขณะที่เจ็บป่วยได้ โดยการตรวจสุขภาพในสุนัขแก่ที่ยังไม่มีโรคประจำตัว อาจตรวจทุก 3-6 เดือน แต่สำหรับสุนัขที่มีโรคประจำตัวจะตรวจตามนัดหมายของสัตวแพทย์
4. การจัดสภาพแวดล้อมในบ้าน
อาจเป็นเรื่องที่หลายคนไม่ได้สนใจ แต่มีผลต่อการใช้ชีวิตของสุนัขมาก
- สุนัขแก่หลายตัวที่เริ่มเป็นต้อกระจก จะมองเห็นได้ลดลง การวางสิ่งของ เฟอร์นิเจอร์ในบ้าน ไม่ควรวางแกะกะหรือกีดขวางทางเดิน ป้องกันการเดินชน รวมถึงไม่ควรจัดบ้านให้แตกต่างจากเดิมมากนัก เพราะสุนัขอาจกังวลไม่กล้าเดินหรือจำตำแหน่งสิ่งต่าง ๆ ไม่ได้ และเดินชนได้
- สุนัขแก่มักมีปัญหาข้อเสื่อม แนะนำให้จำกัดการขึ้นลงบันไดของเค้า และปรับสภาพพื้นไม่ให้ลื่นจนเกินไป เพื่อช่วยให้เกิดความสะดวกในการเคลื่อนไหว และเปลี่ยนอิริยาบถของสุนัข
- สุนัขแก่บางตัวอาจมีปัญหาของระบบประสาทความจำเสื่อม จำทางไม่ได้ ควรมีการจำกัดบริเวณ และมีประตูปิดมิดชิด ป้องกันสุนัขหลง และหายไปจากบ้าน
5. ชวนเล่นเบา ๆ การทำกิจกรรมที่ไม่หนักเกินไป
นอกจากจะช่วยกระชับความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าของและสุนัขแล้ว การออกกำลังกายเบา ๆ การจูงเดิน ก็จะทำให้เลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ในร่างกายได้ดีขึ้นสุนัขแก่ของเราก็จะแข็งแรงขึ้น และการเล่นโดยใช้ของเล่น การฝึกสอนง่าย ๆ ยังช่วยชะลอการเกิดภาวะสมองเสื่อมได้อีกด้วย
นอกจาก 5 ข้อที่กล่าวถึงข้างต้นแล้ว ก็อย่าลืมการดูแลพื้นฐานที่ยังคงต้องให้ความใส่ใจเช่นเดิม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ การทำวัคซีน การอาบน้ำแปรงขน แปรงฟัน ตัดเล็บ ตัดเล็มขน ซึ่งจะทำให้สุนัขแก่ของเรา ยังคงเป็นสุนัขตัวเดิมที่น่ารัก เหมือนกับลูกสุนัขที่เรารับมาเลี้ยงในวันแรกตลอดไปไม่เปลี่ยนแปลง