การพาน้องหมาไปเที่ยวพักผ่อนเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขของทั้งคุณพ่อคุณแม่ และน้องหมา แต่ปัญหาหนึ่งที่มักเกิดขึ้นคืออาการน้องหมาเมารถ ซึ่งทำให้น้องหมาไม่สบายตัว และคุณพ่อคุณแม่อย่างเรา ๆ ก็กังวลใจตามไปด้วย
บทความนี้จะช่วยให้ทุกคนเข้าใจสาเหตุของอาการน้องหมาเมารถ พร้อมวิธีแก้ไข รวมถึงการป้องกัน เพื่อให้การเดินทางของน้องหมาเป็นไปอย่างราบรื่น และให้พวกเค้าสามารถเดินทางได้อย่างมีความสุขมากขึ้น
สาเหตุที่ทำให้น้องหมาเมารถ
ไม่เพียงแต่มนุษย์เราที่จะมีอาการเมารถ เพราะน้องหมาเองก็สามารถเมารถได้เช่นกัน เพียงแต่อาการเมารถของน้องหมา จะมีสาเหตุที่แตกต่างกันไป โดยหลัก ๆ แล้วมีสาเหตุสำคัญดังนี้
- ความไม่สมดุลของระบบประสาททรงตัว
- โดยระบบประสาททรงตัวในหูชั้นในของน้องหมาจะรับรู้การเคลื่อนไหว เมื่อรถเคลื่อนที่ ระบบนี้จะส่งสัญญาณไปยังสมอง หากสัญญาณเหล่านี้ไม่สอดคล้องกับสิ่งที่น้องหมามองเห็น อาจทำให้เกิดอาการสับสน และนำไปสู่อาการเมารถได้
- มักพบในลูกสุนัข เนื่องจากระบบการทรงตัวในหูชั้นในยังไม่สมบูรณ์ ทำให้พวกเค้ามีแนวโน้มที่จะเมารถได้ง่ายกว่าสุนัขโตเต็มวัย
- ความเครียด และความวิตกกังวล
- สุนัขที่ไม่คุ้นเคยกับการเดินทางหรือเคยมีประสบการณ์ที่ไม่ดีกับการขึ้นรถ อาจเกิดความวิตกกังวล และเครียด ซึ่งนำไปสู่อาการเมารถได้
- ความตื่นเต้นมากเกินไปก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้น้องหมาเมารถได้เช่นกัน
- สภาพแวดล้อมในรถ
- กลิ่นที่ไม่คุ้นเคย อากาศถ่ายเทไม่สะดวกหรือการเคลื่อนไหวของรถที่รุนแรง อาจกระตุ้นให้เกิดอาการเมารถได้
อาการน้องหมาเมารถ
อาการเมารถในสุนัขสังเกตได้ไม่ยาก โดยน้องหมาจะแสดงอาการต่าง ๆ เช่น
- น้ำลายไหลมากผิดปกติ
- อาการหอบหรือหายใจเร็ว
- กระสับกระส่าย ไม่สามารถนั่งนิ่งได้
- อาเจียนหรือคลื่นไส้
- ร้องครางผิดปกติ
- ซึมเศร้า ไม่มีเรี่ยวแรง
วิธีดูแลน้องหมาเมารถในวันเดินทาง
1. จัดที่นั่งที่เหมาะสม
ควรจัดที่นั่งให้น้องหมาอยู่ในตำแหน่งที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก และปรับอุณหภูมิในรถให้เย็นสบายอยู่เสมอเพื่อลดความเครียด นอกจากนี้ ควรให้น้องหมาอยู่ในตำแหน่งที่มองเห็นทิวทัศน์นอกรถได้ เพื่อทำให้ระบบปรับสมดุลของร่างกายไม่เกิดความสับสน และไม่ควรให้น้องหมานั่งบนตักขณะขับรถ ควรฝึกให้นั่งในเบาะข้างคนขับหรือเบาะหลังเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ
2. สร้างความสบายใจด้วยของเล่นชิ้นโปรด
นำของเล่นชิ้นโปรดหรือผ้าห่มของน้องหมามาไว้ใกล้ ๆ ตัว เพื่อช่วยให้พวกเค้ารู้สึกผ่อนคลาย และสบายใจระหว่างการเดินทาง
3. สร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลาย
เปิดเพลงจังหวะนุ่มนวล เพื่อสร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลาย หลีกเลี่ยงเพลงที่มีจังหวะหนักหรือเสียงดังที่อาจทำให้น้องหมาตกใจ
4. ดูแลเรื่องอาหารก่อนออกเดินทาง
ควรงดให้น้องหมากินอาหาร 4-6 ชั่วโมงก่อนออกเดินทางเพื่อลดโอกาสเกิดคลื่นไส้และอาเจียนระหว่างการเดินทาง
5. หยุดพักเป็นระยะ และขับอย่างนุ่มนวล
ถ้าต้องเดินทางไกล ควรหยุดรถพักเป็นระยะเพื่อให้น้องหมาได้ลงมาผ่อนคลาย เดินเล่นและทำธุระส่วนตัว รวมถึงหลีกเลี่ยงการเบรกหรือเลี้ยวอย่างกะทันหัน
6. ให้น้องหมากินยาแก้เมารถ
น้องหมาสามารถกินยาแก้เมารถได้เหมือนกับเรา เพียงแต่ต้องมีการปรึกษา และได้รับคำแนะนำจากสัตวแพทย์ก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้พวกเค้าได้รับยาเกินขนาด
โดยป้อนยาก่อนเดินทาง 30 นาที เพื่อให้น้องหมาสงบ และเดินทางถึงที่หมายได้อย่างปลอดภัย หรือหากน้องหมายังมีอาการเมารถรุนแรง ควรปรึกษาสัตวแพทย์เพื่อหาสาเหตุ และรับคำแนะนำในการดูแลที่เหมาะสม
วิธีฝึกให้น้องหมาหายเมารถ
วิธีแก้ไขอาการเมารถของน้องหมาที่ได้ผลดีที่สุดคือการสร้างความคุ้นเคยกับการนั่งรถ โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถเริ่มฝึกได้ดังนี้
- ฝึกให้น้องหมาคุ้นเคยกับการนั่งรถล่วงหน้าก่อนเดินทางไกลอย่างน้อย 7 – 14 วัน โดยเริ่มจากพาน้องหมาขึ้นไปนั่งในรถที่จอดนิ่ง ๆ เพื่อให้เค้าคุ้นชินกับบรรยากาศภายในรถก่อน
- ค่อย ๆ เริ่มขับรถอย่างช้า ๆ แล้วค่อยพาน้องหมาออกเดินทางในทริปสั้น ๆ ประมาณครึ่งชั่วโมง เพื่อให้พวกเค้าปรับตัวกับการเคลื่อนที่ของรถ
- ทำซ้ำด้วยวิธีนี้ต่อเนื่องกันหลาย ๆ วัน เพื่อช่วยให้น้องหมาคุ้นชินกับการเดินทางมากขึ้น
- อย่าลืมให้รางวัลเล็ก ๆ เช่น ขนมสำหรับสุนัข เพื่อสร้างประสบการณ์ดี ๆ เมื่อขึ้นรถ รวมถึงทำให้พวกเค้ารู้สึกดีต่อการนั่งรถมากขึ้นอีกด้วย
อาการเมารถในน้องหมาเป็นปัญหาที่พบได้บ่อย แต่สามารถแก้ไขได้ด้วยการฝึกให้น้องหมาคุ้นเคยกับการนั่งรถ อย่าลืมเตรียมความพร้อมให้ลูกรักของคุณ เพื่อให้ทุกการเดินทางเต็มไปด้วยความสุข ให้ทริปท่องเที่ยวเป็นไปอย่างราบรื่น และปลอดภัย ทั้งพวกเค้า และตัวเราเอง
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
- Courtney Barnes, BSc, DVM; Tammy Hunter, DVM; Ernest Ward, DVM. (2023). Motion Sickness in Dogs. https://vcahospitals.com/know-your-pet/motion-sickness-in-dogs.
- Dogilike. (4 ธันวาคม 2561). คู่มือดูแลน้องหมาเมารถ พร้อมวิธีป้องกันแบบง่าย ๆ ที่เจ้าของต้องรู้. https://www.dogilike.com/content/caring/7361/