สุนัข ถือได้ว่าเป็นสัตว์เลี้ยงที่มีความพิเศษเป็นอย่างมาก เพราะในสปีชีส์เดียวแต่กลับมีมากกว่า 400 สายพันธุ์ทั่วโลก มีตั้งแต่พันธุ์ที่ขนาดเล็กจิ๋ว น้ำหนักไม่เกิน 2-3 กิโลกรัม เมื่อโตเต็มวัยไปจนถึงพันธุ์ที่ตัวใหญ่ยักษ์น้ำหนักตัวมากกว่า 60 กิโลกรัมเมื่อโตเต็มวัย
ดังนั้นอัตราการเจริญเติบโต ความต้องการสารอาหาร การเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ และความต้องการการดูแลของแต่ละพันธุ์จึงมีความแตกต่างกัน ส่งผลต่อการเลือกอาหารที่ต้องพิถีพิถันเลือกให้เหมาะสมกับทั้งสายพันธุ์ กิจกรรมที่ทำ และช่วงวัย
สำหรับการแบ่งช่วงวัยในสุนัข อาจแบ่งได้หลักๆเป็น 4 ช่วง ได้แก่
- ช่วงแรกเกิดถึงหย่านม
- ช่วงวัยเด็ก (Puppy)
- ช่วงโตเต็มวัย (Adult)
- ช่วงสูงวัย (Senior)
การแบ่งแต่ละช่วงวัยตามสายพันธุ์สุนัข
พันธุ์จิ๋ว (Tiny)
น้ำหนักตัวเมื่อโตเต็มวัย < 4 กิโลกรัม เข้าสู่ช่วงโตเต็มวัยตอนอายุ 10 เดือน และสูงวัยตอนอายุประมาณ 8 ปี
พันธุ์เล็ก (Small)
น้ำหนักตัวเมื่อโตเต็มวัย < 10 กิโลกรัม เข้าสู่ช่วงโตเต็มวัยตอนอายุ 10 เดือน และสูงวัยตอนอายุประมาณ 8 ปี
พันธุ์กลาง (Medium)
น้ำหนักตัวเมื่อโตเต็มวัย 11-25 กิโลกรัม เข้าสู่ช่วงโตเต็มวัยตอนอายุ 12 เดือน และสูงวัยตอนอายุประมาณ 7 ปี
พันธุ์ใหญ่ (Large)
น้ำหนักตัวเมื่อโตเต็มวัย 26-44 กิโลกรัม เข้าสู่ช่วงโตเต็มวัยตอนอายุประมาณ 15-18 เดือนและสูงวัยตอนอายุประมาณ 5-6 ปี
พันธุ์ยักษ์ (Giant)
น้ำหนักตัวเมื่อโตเต็มวัย > 45 กิโลกรัม เข้าสู่ช่วงโตเต็มวัยตอนอายุประมาณ 18-24 เดือนและสูงวัยตอนอายุประมาณ 5 ปี
ทั้งนี้การแบ่งกลุ่มสายพันธุ์อาจมีความแตกต่างกันไปตามคำนิยามของสมาคม และสถาบันต่าง ๆ รวมถึงในสุนัขสายพันธุ์เดียวกันก็ยังเข้าสูงช่วงวัยต่าง ๆ ได้แตกต่างกันซึ่งขึ้นกับแต่ละตัวด้วย
อาหารที่ต้องการตามวัยของสุนัข
1. แรกเกิดถึงหย่านม
ลูกสุนัขต้องได้รับนมแม่/นมทดแทนนมแม่จนถึงอายุ 4-6 สัปดาห์ จากนั้นลูกสุนัขจะหย่านมและสามารถกินอาหารเปียกหรืออาหารเม็ด รวมถึงอาหารปรุงสุกได้
2. วัยเด็ก (Puppy)
หลังจากอายุ 6 สัปดาห์ ลูกสุนัขสามารถหย่านมได้โดยสมบูรณ์ การให้นมต่อไปในช่วงนี้สามารถให้เสริมได้ถ้าลูกสุนัขไม่ถ่ายเหลว แต่ไม่ใช่แหล่งของสารอาหารที่ดี และเหมาะสมอีกต่อไป เพราะช่วงวัยนี้เป็นช่วงที่ลูกสุนัขเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างร่างกาย ขน และเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ เป็นช่วงวัยของการเรียนรู้ และมีการใช้พลังงานมากที่สุด ดังนั้นสารอาหารต้องเพียงพอต่อทั้งการเจริญเติบโตและการใช้ชีวิตในแต่ละวัน
- สารอาหารสำคัญที่ช่วยในเรื่องของการเจริญเติบโต คือ โปรตีน ควรเลือกที่มี % Protein อยู่ในช่วง 22-32 % Dry matter (น้ำหนักแห้ง)
- สารอาหารสำคัญที่ให้พลังงาน คือไขมัน และคาร์โบไฮเดรต ซึ่งคำแนะนำในการเลือกอาหารจะเน้นเลือกที่ไขมันเป็นหลัก โดย %Fat ควรอยู่ในช่วง 10-25 % Dry matter (น้ำหนักแห้ง)
- สารอาหารในกลุ่มของวิตามินและแร่ธาตุก็มีความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยถ้าเลือกอาหารสุนัขสูตรสำหรับลูกสุนัขอยู่แล้ว สารอาหารในกลุ่มนี้มักไม่ขาดและไม่เกิน
แต่อยากเน้นย้ำให้ผู้เลี้ยงทราบเรื่องแร่ธาตุ 2 ตัวที่สำคัญคือแคลเซียม (Ca) และฟอสฟอรัส (P) จะต้องมีสัดส่วนที่สมดุลกัน โดยลูกสุนัขที่โตเต็มวัยน้ำหนักตัวไม่เกิน 25 กิโลกรัม สัดส่วน Ca 😛 ต้องเป็น 1:1-1.8:1 และลูกสุนัขที่โตเต็มวัยน้ำหนักตัวมากกว่า 25 กิโลกรัม สัดส่วน Ca 😛 ต้องเป็น 1:1-1.5:1
ถึงแม้วัยเด็กจะเป็นวัยที่ต้องการสารอาหารและพลังงานมากกว่าวัยอื่น แต่ก็ไม่ควรปล่อยให้ลูกสุนัขได้รับอาหารที่มากเกินไป จนส่งผลให้เกิดภาวะน้ำหนักเกิน ซึ่งจะลดได้ยากมากเมื่อเข้าสู่ช่วงโตเต็มวัยแล้ว
3.โตเต็มวัย (Adult)
ในช่วงนี้ร่างกายของลูกสุนัขจะโตเต็มที่แล้ว สารอาหาร และพลังงานที่ได้รับในแต่ละวันจะใช้เพื่อคงความแข็งแรงของอวัยวะต่าง ๆ รวมถึงกล้ามเนื้อ และใช้บางส่วนเพื่อซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ
สารอาหารโดยรวมทุกตัวจะต้องการใน % ที่ลดลงจากช่วงวัยเด็ก แต่จะเน้นการบำรุงระบบต่าง ๆที่สายพันธุ์ต่าง ๆ ควรเน้น เช่น พันธุ์ขนยาวอาจต้องการสารอาหารบำรุงเส้นขน เป็นต้น ซึ่งการเลือกสูตรอาหารสำหรับสุนัขโตจะมีให้เลือกมากมายหลายสูตรที่สุดควรเลือกให้เหมาะกับสุนัขแต่ละตัวโดยดูความต้องการพิเศษ และกิจกรรมต่าง ๆ ที่สุนัขแต่ละตัวทำเป็นหลัก
โดยคำแนะนำสำหรับอาหารสุนัขโต โปรตีน ควรเลือกที่มี % Protein อยู่ในช่วง 15-30 % Dry matter (น้ำหนักแห้ง) ส่วนไขมัน %Fat ควรอยู่ในช่วง 10-20 % Dry matter (น้ำหนักแห้ง) หรือในกรณีที่สุนัขมีภาวะน้ำหนักเกิน %Fat ควรอยู่ในช่วง 7-10 % Dry matter
4. สูงวัย (Senior)
เมื่อสุนัขเข้าสู่ช่วงสูงวัย ร่างกายจะเริ่มมีความเสื่อมในทุก ๆ ระบบ การฟื้นฟูร่างกายจะลดลง ระดับเผาผลาญในร่างกายจะมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะพบว่าการให้อาหารสุนัขโตนั้นไม่เหมาะสมอีกต่อไป ในช่วงนี้สุนัขต้องการพลังงานลดลง และสารอาหารที่จำเป็นควรได้รับในปริมาณที่เหมาะสม ไม่มากหรือน้อยเกินไป
รวมถึงควรได้รับสารที่เสริมในอาหารเพื่อชะลอความเสื่อมในระบบต่าง ๆ ของร่างกายด้วยดังนี้ สารอาหารประเภทโปรตีนควรควบคุมให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม (15-23% Dry Matter) และควรเป็นโปรตีนคุณภาพสูงย่อยง่าย สารอาหารประเภทไขมันควรอยู่ในช่วง 10-15% Dry Matter ในส่วนของแร่ธาตุหลัก ได้แก่ โซเดียม คลอไรด์ และฟอสฟอรัส ก็ควรควบคุมให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อให้เซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายทำงานได้เป็นปกติ
นอกจากนี้ยังควรเสริมสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidants) ในอาหารเพื่อช่วยชะลอและลดการตายของเซลล์ด้วย ได้แก่ วิตามิน E , C และแร่ธาตุ Selenium ก็จำเป็นต่อการทำงานของ Antioxidant enzyme
จะเห็นได้ว่า การเลือกอาหารให้สุนัขในแต่ละช่วงวัยนั้นมีรายละเอียดที่ค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความจำเพาะต่อสายพันธุ์ กิจกรรมที่ทำหรือรวมถึงเรื่องของสภาวะร่างกาย เช่นการทำหมัน
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเชื่อว่า แม่ ๆ ทุกคนสามารถทำได้ เพราะถ้าเลือกอาหารที่ดี และเหมาะสมให้กับวัยแล้ว เขาก็จะมีความสุข สุขภาพแข็งแรง ไม่เจ็บป่วยบ่อย และอยู่กับเราได้นานขึ้นอย่างแน่นอนค่ะ