รวมวิธีสังเกตแมวป่วย ที่ทาสแมวห้ามพลาด!

รวมวิธีสังเกตแมวป่วย ที่ทาสแมวห้ามพลาด!

สำหรับเหล่าทาสแมวทั้งหลาย การให้เจ้านายตัวน้อยของเรามีสุขภาพแข็งแรงถือเป็นความต้องการอันดับหนึ่งของเราทุกคน การสังเกตอาการผิดปกติของน้องแมวจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เพราะจะช่วยให้เราสามารถดูแล และรักษาพวกเค้าได้อย่างทันท่วงที ก่อนที่อาการจะสายเกินไป ในบทความนี้ เราจะพามาเรียนรู้วิธีการสังเกตอาการน้องแมวที่กำลังป่วย เพื่อให้คุณสามารถดูแลน้องแมวได้อย่างถูกต้อง

ทำไมการสังเกตอาการแมวป่วยจึงสำคัญ?

แมวเป็นสัตว์ที่ซ่อนอาการป่วยเก่ง เนื่องจากสัญชาตญาณที่เจ้าเหมียวมีอยู่ เพราะโดยปกติสัตว์ป่าจะมีสัญชาตญาณว่า “สัตว์ที่ป่วย และอ่อนแอจะตกเป็นเป้าหมายของนักล่าได้ง่ายกว่า” พวกเค้าจึงพยายามแสดงออกให้น้อยที่สุดเพื่อไม่ให้เป็นเป้าหมายของสัตว์นักล่านั่นเอง ดังนั้น การสังเกตอาการของแมวอย่างสม่ำเสมอ จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อให้เราสามารถตรวจพบความผิดปกติได้ตั้งแต่ในระยะเริ่มต้น และให้การรักษาได้อย่างทันท่วงที ซึ่งมีวิธีการสังเกตได้ดังนี้

วิธีสังเกตแมวป่วย

1.การสังเกตลักษณะภายนอกเบื้องต้น

    การสังเกตพฤติกรรม และลักษณะทางกายภาพของแมวเป็นขั้นตอนแรกที่สำคัญในการประเมินสุขภาพของพวกเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสงสัยว่าแมวกำลังป่วย อาการผิดปกติที่สังเกตเห็นได้จากการสังเกตระยะไกล เช่น

    1.1 ท่าทางที่ผิดปกติ 

    • นั่งหลังค่อม : อาจบ่งบอกถึงความเจ็บปวดในบริเวณลำตัว
    • เดินเอียงหัว : อาจเป็นสัญญาณของปัญหาที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาทหรือความเจ็บปวดบริเวณศีรษะ
    • ทรงตัวไม่ดี : อาจเกิดจากความเจ็บปวด ปัญหาเกี่ยวกับระบบประสาทหรือโรคอื่นๆ

    1.2 การเคลื่อนไหว

    • เคลื่อนไหวช้า : อาจเป็นสัญญาณของความอ่อนเพลียหรือเจ็บปวด
    • เซื่องซึม ไม่กระฉับกระเฉง : อาจบ่งบอกถึงความรู้สึกไม่สบายตัว

    2.การสังเกตภาวะขาดน้ำ

      ภาวะขาดน้ำในแมว เป็นสัญญาณบ่งบอกถึงปัญหาสุขภาพบางอย่าง เช่น โรคเรื้อรังหรือการสูญเสียน้ำจากการอาเจียน ท้องเสีย เนื่องจากแมวเป็นสัตว์ที่ดื่มน้ำน้อยอยู่แล้ว การพบภาวะขาดน้ำจึงถือเป็นเรื่องที่น่ากังวล ที่เหล่านุดทาสควรสังเกตให้ดี 

      2.1 อาการที่บ่งบอกว่าแมวกำลังขาดน้ำ

      • เหงือกแห้ง : เมื่อกดนิ้วลงบนเหงือกแล้วปล่อย เหงือกจะกลับมาเป็นสีชมพูช้ากว่าปกติ
      • ผิวหนังขาดความยืดหยุ่น : เมื่อดึงผิวหนังบริเวณสะบักขึ้นมา ผิวหนังจะกลับคืนสู่สภาพเดิมช้ากว่าปกติ
      • ตาจมลึก : เบ้าตาจะดูลึกกว่าปกติ
      • ซึม เฉื่อย เบื่ออาหาร ปัสสาวะน้อยลง

      2.2 วิธีตรวจสอบภาวะขาดน้ำเบื้องต้น

      • ตรวจ Capillary Refill Time (CRT) : กดนิ้วลงบนเหงือกแล้วสังเกตเวลาที่เหงือกกลับมาเป็นสีชมพูปกติ หากใช้เวลานานกว่า 2 วินาที แสดงว่าอาจมีภาวะขาดน้ำ
      • ตรวจความแห้งของเหงือก : สังเกตว่าเหงือกแห้งหรือไม่
      • ตรวจความยืดหยุ่นของผิวหนัง : ดึงผิวหนังบริเวณสะบักขึ้นมาแล้วสังเกตเวลาที่ผิวหนังกลับคืนสู่สภาพเดิม

      3.น้ำหนักลดลงแบบผิดปกติ

        น้องแมวที่น้ำหนักลดลงอย่างผิดปกติ อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าน้องกำลังสูญเสียมวลกล้ามเนื้อ โดยเราสามารถทำการประเมินการสูญเสียมวลกล้ามเนื้อเบื้องต้นด้วย Muscle score 4 ระดับดังนี้

        ระดับที่ 1 (ปกติ) : เมื่อลูบคลำบริเวณกระดูกสันหลัง จะรู้สึกถึงกล้ามเนื้อปกติ ไม่เห็นกระดูกชัดเจน

        ระดับที่ 2 (ลดลงเล็กน้อย) : จะรู้สึกว่ามีร่องลงไปที่กระดูกสันหลัง กล้ามเนื้อบางลงเล็กน้อย

        ระดับที่ 3 (ลดลงปานกลาง) : เริ่มเห็นกระดูกสันหลัง กระดูกซี่โครง และกระดูกสะโพกชัดเจนขึ้น

        ระดับที่ 4 (ลดลงมาก) : เห็นกระดูกสันหลัง กระดูกซี่โครง และกระดูกสะโพกชัดเจนมาก

        วิธีสังเกตน้ำหนักที่ลดลงของแมว

        รูปภาพจาก : https://www.cvmcourses.com/courses/mod/page/view.php?id=233

        แต่อย่างไรก็ตาม แมวแก่ก็สามารถสูญเสียมวลกล้ามเนื้อได้เช่นเดียวกัน จึงควรสังเกตประวัติอื่น ๆ ในแมวร่วมด้วยเพื่อให้วินิจฉัยได้อย่างถูกต้องมากยิ่งขึ้น

        4.การสังเกตกิจกรรมระหว่างวัน

          โดยปกติเมื่อน้องแมวป่วย พวกเค้ามักจะซ่อนอาการป่วยของตัวเองเอาไว้ตามสัญชาตญาณ แต่เราสามารถสังเกตเห็นสัญญาณบางอย่างได้ เช่น นอนมากขึ้น เล่นน้อยลง เบื่ออาหาร น้ำหนักเปลี่ยนแปลงหรือมีพฤติกรรมแปลก ๆ เช่น เรียกร้องความสนใจมากขึ้นหรือซ่อนตัวบ่อยกว่าปกติ

          ในแมวที่มีภาวะไทรอยด์เป็นพิษ (Hyperthyroidism) น้องแมวมักจะดูกระฉับกระเฉงมากขึ้นในเวลากลางคืน กินอาหารมากขึ้น แต่ผอมลง และอาจมีอาการอื่นๆ เช่น ขนร่วง หรืออาเจียน

          นอกจากนี้หากน้องแมวมีปัญหาเกี่ยวกับข้อต่อหรือน้ำหนักเกิน น้องอาจกระโดดไม่สูง หรือไม่กระโดดเลย ซึ่งอาจเกิดจากข้อเสื่อมหรือน้ำหนักตัวมากเกินไป ซึ่งเป็นปัญหาที่ควรได้รับการดูแล เพราะการกระโดดเป็นทักษะสำคัญของแมว การที่น้องกระโดดไม่ได้อาจทำให้น้องแมวหลบหนีไม่ทันหรือเกิดการบาดเจ็บได้

          5.การสังเกตขน

            เมื่อน้องแมวป่วย อาการหนึ่งที่สังเกตได้ง่ายๆ คือ การไม่ยอมทำความสะอาดขน (Grooming) ทำให้ขนของน้องดู ยุ่งเหยิง แตกปลาย มันเยิ้ม พันกันหรือร่วงเป็นกระจุก ในบางรายอาจมี รังแคหรือสะเก็ดเกิดขึ้นตามผิวหนังได้

            แต่การทำความสะอาดขนบ่อยเกินไปก็ไม่ใช่เรื่องดีเช่นกัน เพราะอาจบ่งบอกถึง ปัญหาผิวหนัง เช่น ผื่นคัน หรือเกิดจากความเครียด ที่ทำให้มีพฤติกรรมย้ำคิดย้ำทำ (Compulsive disorder) อย่างการเลียขนตลอดเวลาได้นั่นเอง

            6.การสังเกตดวงตา

              ดวงตาของแมวเป็นเหมือนหน้าต่างบ่งบอกสุขภาพภายในได้ เมื่อน้องแมวป่วย เราจะสังเกตเห็นความผิดปกติที่ดวงตาได้ดังนี้

              • เปลือกตาตก : เปลือกตาอาจจะหย่อนลงมาคลุมตาหรือเปิดไม่สุด
              • มีของเหลวไหล : ของเหลวที่ไหลออกมามักมีสีเขียว เหลืองหรือขาว
              • ตาขุ่น : ลูกตาจะดูขุ่นมัว ไม่ใสเหมือนปกติ
              • เปลือกตาที่ 3 ปิดคลุม : เปลือกตาที่ 3 หรือเยื่อบางๆ ที่อยู่มุมในของตาจะปิดคลุมลูกตาเกือบทั้งหมด

              7.การสังเกตการหายใจ

                หากพบว่าน้องแมวมีอาการไอ หายใจลำบาก และมีเสียงดังขณะหายใจ อาจบ่งบอกถึงปัญหาที่เกิดขึ้นใน ทางเดินหายใจส่วนบน เช่น จมูก หลอดลม อาจมีการอักเสบหรือมีสิ่งแปลกปลอมอุดตัน

                แต่ถ้าน้องแมวหายใจลำบากแต่ไม่มีเสียงดังออกมา อาจต้องใช้เครื่องมือทางการแพทย์ในการฟังเสียงปอดเพิ่มเติม ปัญหานี้อาจเกิดจากความผิดปกติในทางเดินหายใจส่วนล่าง ซึ่งมักเกิดบริเวณปอดเป็นหลัก จนอาจมีภาวะน้ำท่วมปอด ปอดบวม หรือมีของเหลวสะสมในช่องเยื่อหุ้มปอด ทำให้การทำงานของปอดลดลง และหายใจลำบากมากขึ้น

                8.การสังเกตอาเจียน

                  หลายครั้ง เรามักจะสับสนระหว่างแมวอ้วก กับ ขย้อนหรือขาก ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกัน แต่มีสาเหตุที่แตกต่างกัน ดังนี้

                  • อาเจียน จะเกิดจากการเกร็งหน้าท้องเพื่อขับเอาของเหลวหรืออาหารออกมาจากกระเพาะอาหาร ซึ่งบ่งบอกถึงปัญหาทางเดินอาหาร เช่น อาหารเป็นพิษ การติดเชื้อ หรือโรคทางเดินอาหารอื่นๆ
                  • ขย้อน จะเกิดจากการที่แมวกินอาหารเร็วเกินไป ทำให้เกิดการสำรอกอาหารออกมาโดยไม่ต้องเกร็งหน้าท้อง
                  • ขาก จะเกิดจากการมีปัญหาทางระบบหายใจ เช่น การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ทำให้แมวมีอาการไอ และอาจมีการขับเสมหะออกมาพร้อมกับอาการคล้ายอาเจียน

                  และคุณพ่อคุณแม่สามารถศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับอาการอาเจียนของน้องแมวเพิ่มเติมได้ที่ ทาสแมวต้องรู้ แมวอ้วกเกิดจากอะไร บอกอะไรได้บ้าง ? 

                  9.การสังเกตการกินน้ำและอาหาร

                    การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการกินของน้องแมว เป็นหนึ่งในสัญญาณเตือนที่สำคัญว่าพวกเค้าอาจไม่สบาย การสังเกตว่าน้องแมวกินน้ำและอาหารมากหรือน้อยผิดปกติ จึงเป็นสิ่งที่เจ้าของแมวควรใส่ใจ

                    • กินน้ำ และอาหารมากผิดปกติ : อาจเป็นสัญญาณของปัญหาเกี่ยวกับฮอร์โมน แต่พบได้ไม่บ่อยนัก
                    • กินน้ำ และอาหารน้อยผิดปกติ : เป็นสัญญาณที่พบได้บ่อยกว่า อาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น เจ็บป่วย ไม่ชอบรสชาติอาหาร หรือมีปัญหาเกี่ยวกับฟัน

                    ดังนั้น การเลือกอาหารแมวที่มีคุณภาพ เป็นสูตรอาหารเหมาะสมกับวัย และมีรสชาติที่น้องแมวชอบ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้พวกเค้าเพลิดเพลินไปกับมื้ออาหารได้นั่นเอง

                    ขอแนะนำ Pawdy Holistic Feline อาหารแมวคุณภาพเกรด Holistic ซึ่งมีส่วนผสมจากเนื้อสัตว์แท้ ไม่มีการผสมผลพลอยได้จากสัตว์ รวมถึงส่วนผสมของข้าวโพด และข้าวสาลี มั่นใจได้เลยว่า เจ้าเหมียวของเราต้องรัก ต้องหลง กินหมดไม่มีเหลือแน่นอน สนใจสั่งซื้อได้ ที่นี่

                    การสังเกตพฤติกรรม และสภาพร่างกายของน้องแมวเป็นประจำนั้น จะช่วยให้เราสามารถตรวจพบอาการป่วยได้ตั้งแต่ในระยะเริ่มต้น ซึ่งจะช่วยให้น้องแมวได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที หากคุณสังเกตเห็นสัญญาณใด ๆ ที่ผิดปกติ ควรรีบพาน้องแมวไปพบสัตวแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย และรักษาอย่างถูกต้อง เพื่อให้พวกเค้าอยู่เป็นเจ้านายของนุดทาสอย่างเราต่อไปได้อีกนานนั่นเอง

                    ขอขอบคุณข้อมูลจาก 

                    https://www.cvmcourses.com/courses/mod/page/view.php?id=233

                    https://vcahospitals.com/know-your-pet/recognizing-signs-of-illness-in-cats

                    อ.ดร.น.สพ. ภานพ วิไลนาม จากภาควิชาพยาธิวิทยาคลินิกทางสัตวแพทย์

                    ผศ.ดร.สพ.ญ.มธุรวันต์ ทัฬหกิรณ์ จากภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกและการสาธารณสุข

                    อ.ดร.น.สพ. ถิรวุฒิ คงตาทราย จากภาควิชาการแก้ปัญหาทางคลินิกในเวชศาสตร์สัตว์เล็ก

                    ผศ.น.สพ. รุ่งโรจน์ โอสถานนท์ จากภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกและการสาธารณสุข

                    Shopping Cart

                    เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ Privacy Policy และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

                    ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

                    คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

                    ยอมรับทั้งหมด
                    จัดการความเป็นส่วนตัว
                    • คุกกี้ที่จำเป็น
                      เปิดใช้งานตลอด

                      ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

                    • คุกกี้เพื่อการวิเคราห์

                      คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

                    บันทึกการตั้งค่า
                    Scroll to Top