บ่อยครั้งสำหรับทาสแมวที่มักจะเห็นน้องแมวอ้วกออกมา จนอาจทำให้คุณพ่อคุณแม่หลายคนเกิดความสับสนไม่น้อยว่านี่คืออาการอะไรกันแน่ ? เพราะอาการอ้วก สำรอก และขาก นั้นดูคล้ายกันมาก แต่กลับมีสาเหตุ และวิธีแก้ไขที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง
ในบทความนี้ เราจะพาคุณพ่อคุณแม่มาไขข้อข้องใจเกี่ยวกับกองอาหารปริศนาของเจ้าเหมียวกัน เพื่อที่จะได้เข้าใจ และดูแลน้องได้อย่างถูกต้องนั่นเอง
อาการแมวสำรอก ขาก และอ้วก แตกต่างกันอย่างไร
อาการแมวสำรอก ขาก และอ้วก เป็นอาการที่คุณพ่อคุณแม่มักจะสับสนกัน เนื่องจากอาการเหล่านี้ดูคล้ายคลึงกัน แต่จริง ๆ แล้วมีความแตกต่างกันที่สำคัญ โดยแต่ละอาการนั้นบ่งบอกถึงสาเหตุ และปัญหาสุขภาพที่แตกต่างกันไป
อาการแมวสำรอก (Regurgitation)
อาการแมวสำรอกส่วนใหญ่มักเกิดจากปัญหาที่หลอดอาหารหรือคอหอย ทำให้อาหารที่ออกมาเป็นก้อนที่ยังไม่ย่อย และมีเมือกปน ซึ่งแตกต่างจากการอ้วก ตรงที่แมวจะไม่เกร็งหน้าท้อง และมักเกิดขึ้นทันทีหลังกินอาหาร
หากแมวสำรอกเป็นก้อนยาวคล้ายท่อ อาจเป็นสัญญาณของปัญหาในลำไส้ส่วนล่างได้ นอกจากนี้ การสำรอกยังอาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น กินอาหารเร็วเกินไป ก้อนขนอุดตันหรือการตีบตันของหลอดอาหาร
วิธีการป้องกันการสำรอก
- ใช้ชามชะลอการกิน – ชามชนิดนี้จะช่วยควบคุมปริมาณอาหารที่แมวกินในแต่ละครั้ง และลดความเสี่ยงต่อการสำรอกจากการกินเร็วเกินไป
- แยกชามอาหารสำหรับแต่ละตัว – หากเลี้ยงแมวหลายตัว ควรจัดเตรียมชามอาหารแยกให้แต่ละตัว และวางในตำแหน่งที่ห่างกันพอสมควร เพื่อป้องกันไม่ให้แมวแย่งกันกินอาหาร และลดความเครียดที่อาจเกิดขึ้นจากการแย่งกันกิน
- หลีกเลี่ยงการวิ่งหรือกระโดดหลังกินอาหาร – ควรให้แมวพักผ่อนหลังจากกินอาหารเสร็จ เพื่อป้องกันไม่ให้ระบบทางเดินอาหารทำงานหนักเกินไป
- ปรึกษาสัตวแพทย์ – หากปัญหาการสำรอกยังคงเกิดขึ้น ควรพาแมวไปพบสัตวแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แท้จริง และรับคำแนะนำในการรักษาที่เหมาะสม เช่น การตรวจสอบปัญหาเกี่ยวกับหลอดอาหาร
นอกจากนี้ แมวขนยาวหรือแมวที่มีความเครียดจนเลียขนตัวเองบ่อยเกินไป (Glooming) มักจะสำรอก “น้ำลายสีขาวมีฟองพร้อมมีก้อนขน” ซึ่งเกิดจากการที่ขนจำนวนมากไปอุดตันทางเดินอาหารจนไม่สามารถขับออกทางอุจจาระได้ ร่างกายจึงต้องขับออกทางการสำรอก โดยสามารถแก้ไขได้ด้วยการให้อาหารแมวสูตรควบคุมก้อนขน ซึ่งจะมีส่วนผสมของกากใย และแร่ธาตุที่ช่วยให้ขนเคลื่อนตัวผ่านทางเดินอาหาร และออกมาทางอุจจาระได้ดีขึ้น
อาการแมวขาก (Expectoration)
แมวขาก เป็นอาการที่อาจทำให้เกิดการสับสนกับอาการแมวอ้วกมากที่สุด เนื่องจากทั้งสองอาการมีลักษณะคล้ายคลึงกัน คือมีการขับสิ่งของออกมาจากปาก แต่สาเหตุ และวิธีการแก้ไขจะแตกต่างกัน
อาการขากมักเกิดจากปัญหาที่ระบบทางเดินหายใจ เช่น หวัดแมว ทำให้แมวไอ และอาจมีการขับเสมหะออกมาปนกับน้ำลาย โดยอาการไอแห้งมักเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงปัญหาที่ระบบทางเดินหายใจ
วิธีการป้องกันการขาก
- การทำวัคซีนป้องกันตามโปรแกรมที่สัตวแพทย์แนะนำ – เพราะวัคซีนจะช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แมวสามารถต้านทานโรคได้ดียิ่งขึ้น
- ปรึกษาสัตวแพทย์ – เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แท้จริง และรับคำแนะนำในการรักษาที่เหมาะสม
- ดูแลความสะอาดของภาชนะใส่ อาหาร และน้ำ – ล้างภาชนะให้สะอาดเป็นประจำเพื่อป้องกันการปนเปื้อนของแบคทีเรีย
- หวีขนให้แมวเป็นประจำ – การหวีขนจะช่วยลดปริมาณขนที่แมวกลืนเข้าไป
- ให้ผลิตภัณฑ์ช่วยลดปัญหาขนร่วง – ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหรืออาหารเปียกที่ช่วยลดปัญหาขนร่วง อาจช่วยลดโอกาสที่แมวจะขากขน
อาการแมวอ้วก (Vomiting)
คือการที่ร่างกายขับเอาอาหารหรือของเหลวที่อยู่ในกระเพาะอาหารออกมาทางปาก โดยเกิดจากการหดตัวของกล้ามเนื้อกระเพาะอาหาร และกล้ามเนื้อท้องอย่างรุนแรง ซึ่งมักเกิดขึ้นหลังจากที่กินอาหารไปแล้วสักระยะหนึ่ง โดยสีของอ้วกนั้นสามารถเป็นตัวบ่งบอกถึงสาเหตุของการอ้วกได้เบื้องต้นดังนี้
แมวอ้วกเป็นสีเหลือง
มักเกิดจากการที่แมวมีอาการท้องว่าง ทำให้ร่างกายผลิตน้ำดี ซึ่งเป็นของเหลวสีเหลืองเข้มออกมาในปริมาณมากเกินไป เมื่อไม่มีอาหารในกระเพาะอาหารให้ย่อย น้ำดีเหล่านี้จึงไหลย้อนกลับขึ้นมา ทำให้แมวอ้วกออกมาเป็นสีเหลืองได้ อาจเกิดได้จากการเบื่ออาหาร การเลือกกินหรือการเปลี่ยนอาหารแบบฉับพลัน
แมวอ้วกเป็นสีเขียว
หากแมวมีการอ้วกออกมาเป็น “สีเขียว” จะสามารถบ่งบอกได้ว่าแมวมีอาการท้องว่างอย่างหนัก เนื่องจากเมื่อแมวมีอาการท้องว่างรุนแรง ร่างกายจะผลิตน้ำดีออกมาในปริมาณมาก และไหลย้อนกลับขึ้นมาปนกับอ้วก ทำให้ก้อนอ้วกมีสีเขียว แทนที่จะเป็นสีเหลือง
แมวอ้วกเป็นของเหลวหนืดใส
เมื่อแมวอ้วกออกมาเป็นของเหลวหนืดใส อาจบอกได้ว่าแมวกำลังประสบปัญหาเรื่องระบบทางเดินอาหารเช่นกัน สาเหตุหลัก ๆ มักเกิดจาก การท้องว่าง ทำให้กระเพาะอาหารผลิตน้ำย่อย และน้ำดีออกมา แต่เนื่องจากไม่มีอาหารให้ย่อย จึงเกิดการไหลย้อนกลับขึ้นมาพร้อมกับน้ำลายจำนวนมาก ทำให้ก้อนอ้วกมีลักษณะใส และเหนียว
วิธีการป้องกันแมวอ้วกเป็นสีเหลือง เขียว และอ้วกออกมาเป็นของเหลวหนืดใส
โดยอาการทั้ง 3 รูปแบบ มักเกิดจากสาเหตุหลักที่คล้ายคลึงกัน คือ การที่แมวท้องว่างเป็นเวลานาน เบื่ออาหารหรือมีการเปลี่ยนอาหารแบบฉับพลัน ดังนั้นจึงต้องมีการสังเกตการกินอาหารของแมวอยู่เสมอ หากเวลาเทอาหารแล้วคุณพ่อคุณแม่เริ่มพบว่าน้องแมวไม่กินอาหารที่ให้ เราควรต้องหาสาเหตุให้พบแล้วรีบแก้ไข ดังนี้
- หากแมวเบื่ออาหารเดิมหรือมีอาการเลือกกิน ลองเพิ่มท็อปปิ้งน่าอร่อย เช่น อาหารเปียก น้ำซุปหรือผงโรยอาหารลงบนอาหารเดิม เพื่อกระตุ้นความอยากอาหารได้
- หากแมวไม่กินอาหารเพราะมีการเปลี่ยนอาหารแบบฉับพลัน อาจเป็นเพราะยังไม่คุ้นกับรสชาติหรือขนาดเม็ดใหม่ ๆ แนะนำให้ผสมอาหารใหม่กับอาหารเก่าที่น้องชอบทีละน้อย ๆ เพื่อให้น้องปรับตัวได้ง่ายขึ้น และลดโอกาสท้องเสียได้
- หากแมวไม่กินอาหารเพราะความเครียด เช่น การย้ายบ้านหรือการมีสัตว์เลี้ยงตัวใหม่มาอยู่ร่วมกัน สามารถแก้ไขได้ด้วยการสร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลายให้กับแมว เช่น การจัดเตรียมมุมพักผ่อนให้กับเค้าหรือการเล่นกับพวกเค้าเพื่อลดความเครียด
หากน้องแมวมีปัญหาในเรื่องการกิน ไม่ว่าจะเป็นกินยากหรือเลือกกิน ขอแนะนำ Pawdy Holistic Feline อาหารแมวที่คัดสรรโปรตีนคุณภาพจากเนื้อสัตว์แท้ ๆ บอกลาปัญหาน้องแมวกินยากหรือเลือกกินได้เลย สนใจสั่งซื้อได้ ที่นี่
แมวอ้วกออกมาเป็นเลือด (Haematemesis)
หากแมวอ้วกออกมาเป็นเลือดจะพบว่ากองอ้วกจะมี “สีออกน้ำตาลแดง” และอาจพบ “กลิ่นเหม็นคาว” ซึ่งเป็นอาการที่น่าเป็นห่วงมาก ๆ ในแมว โดยทั่วไปแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ ดังนี้
- การอ้วกปนเลือดปริมาณมาก มักเกิดจากการบาดเจ็บที่รุนแรงของหลอดเลือดในทางเดินอาหาร เช่น
- แผลในกระเพาะอาหารหรือลำไส้: อาจเกิดจากการอักเสบ การติดเชื้อหรือการกลืนสิ่งแปลกปลอมที่มีคม
- การฉีกขาดของหลอดเลือด: อาจเกิดจากการอ้วกที่รุนแรงซ้ำ ๆ หรือการบาดเจ็บจากภายนอก
- การอ้วกปนเลือดเล็กน้อย มักเกิดจากการที่แมวอ้วกบ่อยครั้ง ทำให้หลอดเลือดฝอยในทางเดินอาหารฉีกขาดเล็กน้อย ทำให้เลือดปนออกมากับอ้วก
อย่างไรก็ตามอาหารเม็ดบางยี่ห้อมีสีเม็ดที่เข้ม เช่น สีแดง เมื่อน้องแมวกินเร็วจนเกินไป และคลุกเคล้ากับน้ำลาย อาจทำให้ก้อนอ้วกออกมาเป็นสีแดงได้เช่นกัน ซึ่งอาจทำให้เราเข้าใจผิดคิดว่าน้องแมวอ้วกออกมาเป็นเลือดได้
ดังนั้นการสังเกตอ้วกของแมวนั้นจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ไม่ใช่แค่ดูที่สีอย่างเดียวเท่านั้น แต่เราต้องพิจารณาองค์ประกอบอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น เนื้อสัมผัส กลิ่น และอาหารที่แมวกินก่อนหน้านี้ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ครบถ้วน และช่วยสัตวแพทย์วินิจฉัยสาเหตุของการอ้วกได้อย่างถูกต้อง หากเราพลาดรายละเอียดเล็กน้อย อาจนำไปสู่การวินิจฉัยที่ผิดพลาดได้
จะเห็นได้ว่าอาการอ้วกของน้องแมว แม้อาจดูเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่การสังเกต และบันทึกข้อมูลอย่างละเอียด จะช่วยให้เราเข้าใจสาเหตุของปัญหาได้ดียิ่งขึ้น โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถถ่ายคลิปวิดีโอขณะที่แมวกำลังอ้วกหรือถ่ายรูปกองอ้วกเก็บไว้ได้ นอกจากนี้ การสังเกตพฤติกรรมการกินอาหารของแมวก่อนหน้านี้ก็สำคัญมากเช่นกัน เพราะอาจช่วยให้สัตวแพทย์วินิจฉัยโรคได้แม่นยำยิ่งขึ้น
นอกจากคลิปวิดีโอ และรูปภาพแล้ว คุณพ่อคุณแม่สามารถบันทึกข้อมูลเพิ่มเติม เช่น เวลาที่แมวอ้วก จำนวนครั้ง สี เนื้อสัมผัส และอาหารที่แมวกินก่อนหน้านี้ การบันทึกข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้สัตวแพทย์สามารถวิเคราะห์สาเหตุของการอ้วกได้อย่างละเอียด และวางแผนการรักษาที่เหมาะสมกับน้องแมวได้ แต่แม้ว่าจะสังเกต และบันทึกข้อมูลได้อย่างละเอียดแล้วก็ตาม การปรึกษาสัตวแพทย์ยังคงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพื่อไม่ให้พลาดรายละเอียดเล็ก ๆ ที่อาจมีผลต่อการรักษาได้
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ภาควิชาพยาธิวิทยาคลินิกทางสัตวแพทย์
ภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกและการสาธารณสุข