คุณพ่อคุณแม่รู้หรือไม่ว่าน้องหมาเองก็มีกรุ๊ปเลือดเหมือนกับคนเรา การทำความเข้าใจเกี่ยวกับกรุ๊ปเลือดของน้องหมาเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับคุณพ่อคุณแม่ทุกคน เพราะความรู้เหล่านี้อาจช่วยชีวิตพวกเค้าได้ในยามฉุกเฉิน บทความนี้จะพาทุกคนไปเจาะลึกเรื่องราวของกรุ๊ปเลือดของน้องหมา เพื่อให้เราสามารถดูแลลูกรักของเราได้อย่างมั่นใจ และปลอดภัยยิ่งขึ้น
กรุ๊ปเลือดสุนัขคืออะไร ?
น้องหมาของเรานั้นก็มีกรุ๊ปเลือดเหมือนกับมนุษย์ แต่ระบบกรุ๊ปเลือดของน้องหมานั้นแตกต่างกับเราโดยสิ้นเชิง ระบบกรุ๊ปเลือดของน้องหมาที่ใช้ในทางการแพทย์เรียกว่า DEA (Dog Erythrocyte Antigen)
ประกอบด้วยหมู่เลือดหลัก 8 หมู่ ได้แก่
- DEA 1.1
- DEA 1.2
- DEA 3
- DEA 4
- DEA 5
- DEA 6
- DEA 7
- DEA 8
ในหมู่เลือดเหล่านี้ DEA 1.1 และ DEA 1.2 ถือเป็นหมู่เลือดที่มีความสำคัญทางสัตวแพทย์มากที่สุด เนื่องจากหากจับคู่ไม่ถูกต้อง อาจทำให้เกิดปฏิกิริยาภูมิคุ้มกันที่รุนแรงได้
อีกหนึ่งสิ่งที่น่าสนใจคือ น้องหมาไม่มีแอนติบอดีต่อหมู่เลือดอื่นในพลาสมาโดยธรรมชาติ แตกต่างจากเรา ซึ่งโดยปกติแอนติบอดีจะทำหน้าที่คอยต่อต้านเซลล์เม็ดเลือดแดงที่ไม่ตรงกับหมู่เลือดของเรานั่นเอง แต่ในเซลล์เม็ดเลือดแดงของน้องหมาจะมีแอนติเจน ซึ่งกำหนดความเข้ากันได้ของการถ่ายเลือดเอาไว้ ตัวอย่างเช่น
- สุนัขที่มีหมู่เลือด DEA 1.1 และ DEA 1.2 มักถูกเรียกว่า “ผู้รับสากล” (universal recipients) คล้ายกับหมู่เลือด AB ในมนุษย์ ซึ่งหมายความว่าพวกเค้าสามารถรับเลือดจากหมู่เลือดต่าง ๆ ได้ แต่ไม่สามารถบริจาคเลือดให้กับหมู่เลือดอื่น ๆ ได้โดยไม่ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อน
- สุนัขที่มีหมู่เลือด DEA 4 ถือเป็น “ผู้บริจาคสากล” (universal donors) คล้ายกับหมู่เลือด O ในมนุษย์ เนื่องจากเลือดของพวกเค้าไม่มีแอนติเจนที่จะกระตุ้นการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันในผู้รับ
เมื่อน้องหมาไม่มีแอนติบอดีตามธรรมชาติต่อกรุ๊ปเลือดอื่น ๆ จึงหมายความว่าในการถ่ายเลือดครั้งแรกจากกรุ๊ปเลือดที่ไม่เข้ากัน มักจะไม่เกิดปฏิกิริยาใด ๆ อย่างไรก็ตาม หากมีการถ่ายเลือดครั้งต่อไปด้วยเลือดที่ไม่เข้ากัน อาจทำให้เกิดการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันที่รุนแรงได้ การทราบกรุ๊ปเลือดของพวกเค้าล่วงหน้าจึงเป็นสิ่งสำคัญ
ทำไมการรู้กรุ๊ปเลือดสุนัขจึงสำคัญ ?
การรู้กรุ๊ปเลือดของน้องหมามีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในกรณีที่ต้องการการถ่ายเลือด เนื่องจาก
- หลีกเลี่ยงอันตรายจากการถ่ายเลือดที่ไม่เข้ากัน
- การถ่ายเลือดที่ไม่เข้ากันอาจทำให้เกิดปฏิกิริยาทางภูมิคุ้มกันที่รุนแรงได้ ตัวอย่างเช่น หากน้องหมาที่มีหมู่เลือด DEA 1.1 บวก ได้รับเลือดจากน้องหมาผู้บริจาคที่มีหมู่เลือด DEA 1.1 ลบ ร่างกายของน้องหมาผู้รับอาจสร้างแอนติบอดีเพื่อต่อต้านเซลล์เม็ดเลือดแดงของน้องหมาผู้บริจาค ปฏิกิริยานี้อาจนำไปสู่ภาวะโลหิตจาง อวัยวะล้มเหลวหรือแม้กระทั่งเสียชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการถ่ายเลือดซ้ำ
- เพิ่มความปลอดภัยในการถ่ายเลือด
- การตรวจกรุ๊ปเลือด (Blood Typing) และการตรวจความเข้ากันได้ของเลือด (Cross-Matching) ก่อนการถ่ายเลือดเป็นสิ่งจำเป็น
- การตรวจ Cross-Matching ช่วยให้มั่นใจได้ว่าเลือดของน้องหมาผู้บริจาคเข้ากันได้กับน้องหมาผู้รับ
- เตรียมพร้อมสำหรับการรักษาได้ทันที
- การทราบกรุ๊ปเลือดน้องหมา สามารถทำให้สัตวแพทย์สามารถเตรียมความพร้อมในการผ่าตัดหรือการรักษาพยาบาลต่าง ๆ ที่ต้องมีการให้เลือดได้อย่างทันท่วงที
- เพิ่มโอกาสในการช่วยชีวิต
- ในสถานการณ์ฉุกเฉิน การทราบกรุ๊ปเลือดของน้องหมาสามารถช่วยประหยัดเวลา และเพิ่มโอกาสในการช่วยชีวิตพวกเค้าได้
การรู้กรุ๊ปเลือดน้องหมา จึงถือเป็นข้อมูลสำคัญที่ช่วยให้การถ่ายเลือดเป็นไปอย่างปลอดภัย และมีประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อน รวมถึงเพิ่มโอกาสในการช่วยชีวิตพวกเค้าในกรณีฉุกเฉินได้อีกด้วย
การตรวจกรุ๊ปเลือดสุนัข
ก่อนการถ่ายเลือดทุกครั้ง สัตวแพทย์จะดำเนินการตรวจกรุ๊ปเลือด และตรวจความเข้ากันได้ของเลือด เพื่อให้มั่นใจในความปลอดภัย และประสิทธิภาพของการถ่ายเลือด โดยมีขั้นตอนหลัก ๆ ดังนี้
- การตรวจกรุ๊ปเลือด (Blood Typing)
- เป็นการทดสอบเพื่อระบุหมู่เลือดของน้องหมา โดยใช้ตัวอย่างเลือดเล็กน้อย
- สัตวแพทย์จะใช้สารเคมีเฉพาะเพื่อตรวจหาแอนติเจน DEA (Dog Erythrocyte Antigen) ที่มีอยู่ในเม็ดเลือดแดง
- ผลการทดสอบจะระบุว่าน้องหมามีหมู่เลือดใดในระบบ DEA
- การตรวจความเข้ากันได้ของเลือด (Cross-Matching)
- เป็นการทดสอบความเข้ากันได้ระหว่างเลือดของน้องหมาผู้บริจาค และน้องหมาผู้รับ
- สัตวแพทย์จะนำเลือดของน้องหมาผู้ให้ และน้องหมาผู้รับมาผสมกัน เพื่อสังเกตปฏิกิริยาที่อาจเกิดขึ้น
- หากไม่มีปฏิกิริยา แสดงว่าเลือดเข้ากันได้ และปลอดภัยสำหรับการถ่ายเลือด
แม้การตรวจ Blood Typing จะระบุหมู่เลือดได้ แต่การตรวจ Cross-Matching จะช่วยยืนยันความเข้ากันได้ในระดับที่ละเอียดกว่า ซึ่งช่วยหลีกเลี่ยงปฏิกิริยาทางภูมิคุ้มกันที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
การถ่ายเลือด และธนาคารเลือดของสุนัข
ธนาคารเลือดสำหรับน้องหมา มีบทบาทสำคัญในทางสัตวแพทย์ โดยทำหน้าที่จัดเก็บเลือดจากน้องหมาผู้บริจาค เพื่อนำไปใช้ในกรณีฉุกเฉิน เช่น อุบัติเหตุ การผ่าตัดหรือภาวะโลหิตจาง น้องหมาที่สามารถบริจาคเลือดได้มักเป็นน้องหมาพันธุ์ใหญ่ที่มีสุขภาพแข็งแรง เรียบร้อย และสามารถให้เลือดในปริมาณที่ปลอดภัย
ก่อนการนำเลือดไปใช้ ธนาคารเลือดจะทำการตรวจคัดกรองอย่างเข้มงวด เพื่อให้แน่ใจว่าเลือดที่ได้รับบริจาคนั้นปลอดโรค และเข้ากับน้องหมาผู้รับได้อย่างเหมาะสม นอกจากนี้ คุณพ่อคุณแม่บางบ้านยังสามารถอาสาให้น้องหมาของตัวเองเป็นผู้บริจาค ซึ่งถือเป็นการช่วยเหลือน้องหมาตัวอื่น ๆ ที่ต้องการเลือดอย่างเร่งด่วนได้อีกด้วย
เมื่อไหร่ที่สุนัขต้องการถ่ายเลือด?
น้องหมาบางตัว อาจจำเป็นต้องรับการถ่ายเลือดด้วยสาเหตุหลายประการ เนื่องจากน้องหมาอาจมีความไวต่อสภาวะ และโรคต่าง ๆ ที่คล้ายกับมนุษย์ เช่น
- โรคโลหิตจาง จากภาวะเรื้อรังหรือโรคพยาธิเม็ดเลือด
- ปัญหาการแข็งตัวของเลือด ที่อาจทำให้เลือดออกง่ายผิดปกติ
- โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือโรคภูมิคุ้มกันทำลายเม็ดเลือดแดงของตัวเอง
- การสูญเสียเลือดจากอุบัติเหตุหรือการผ่าตัดใหญ่
- ภาวะฉุกเฉินทางสุขภาพ ที่ทำให้ร่างกายต้องการเซลล์เม็ดเลือดแดงหรือพลาสมาเพิ่มเติม
ความเสี่ยงของการถ่ายเลือดในสุนัข
แม้ว่าการถ่ายเลือดจะช่วยชีวิตน้องหมาได้มากมาย แต่ก็มีความเสี่ยงบางประการที่ควรคำนึงถึง ได้แก่
- การทำลายเม็ดเลือดแดงเฉียบพลัน – มักเกิดขึ้นได้หากร่างกายของน้องหมาสร้างแอนติบอดีต่อต้านเลือดที่ได้รับ ซึ่งอาจเป็นอันตรายร้ายแรง
- การทำลายเม็ดเลือดแดงแบบค่อยเป็นค่อยไป – มักเกิดในน้องหมาที่ได้รับการถ่ายเลือดหลายครั้ง และมีปฏิกิริยาต่อแอนติเจนหมู่เลือดที่พบได้น้อย
- การติดเชื้อจากเลือดที่ปนเปื้อน – อาจได้รับเชื้อจากน้องหมาผู้ให้บริจาคที่มีโรคอยู่ก่อนแล้ว
- ภาวะระดับแคลเซียมในเลือดต่ำ – ส่งผลให้เกิดอาการชักหรือหัวใจเต้นผิดปกติในบางกรณี
- ของเหลวสะสมในปอด – เกิดขึ้นเมื่อน้องหมาได้รับปริมาณเลือดมากเกินไป ทำให้หายใจลำบาก
- อาการแพ้เลือด – อาจแสดงออกในรูปแบบของลมพิษที่ผิวหนัง ไข้หรืออาเจียน
การทำความเข้าใจเรื่องกรุ๊ปเลือดของน้องหมา และการตรวจสอบความเข้ากันได้ก่อนการถ่ายเลือดเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้น้องหมาได้รับการรักษาอย่างปลอดภัย และมีประสิทธิภาพ คุณพ่อ คุณแม่ควรให้ความสำคัญกับการตรวจกรุ๊ปเลือด โดยเฉพาะหากน้องหมามีความจำเป็นต้องรับหรือบริจาคเลือดในอนาคต
ด้วยข้อมูลที่ถูกต้อง และการดูแลเอาใจใส่จากคุณพ่อคุณแม่ จะช่วยให้สัตวแพทย์สามารถให้การรักษาได้อย่างเหมาะสม ช่วยเพิ่มโอกาสรอดชีวิต และรับรองสุขภาพที่ดีของลูกรักของเราได้ต่อไป
ขอขอบคุณข้อมูลจาก :
Cotter, S. M. (2017, December). Blood groups and blood transfusions in dogs – dog owners. Merck Veterinary Manual. https://www.merckvetmanual.com/dog-owners/blood-disorders-of-dogs/blood-groups-and-blood-transfusions-in-dogs?.com
Hale, A. S. (1995). Canine blood groups and their importance in veterinary transfusion medicine. Veterinary Clinics of North America: Small Animal Practice, 25(6), 1323–1332.
Plook Creator. (2022). เรื่องที่เจ้าของควรรู้ก่อนพาน้องหมาไปบริจาคเลือด. ทรูปลูกปัญญา : คลังความรู้ออนไลน์. https://www.trueplookpanya.com/knowledge/content/93367-ani-
Rdiwan, Vanida, & Tissaya. (2017, November 10). การเปลี่ยนถ่ายโลหิตในสุนัข. Kasetsart University Research and Development Institute. https://www3.rdi.ku.ac.th/?p=37919.com