ทาสแมวหลายคนอาจคุ้นเคยกับชื่อของ “โรคลิวคีเมียแมว” หรือ “มะเร็งเม็ดเลือดขาวในแมว” แต่รู้หรือไม่ว่าโรคร้ายนี้อันตรายกว่าที่คิด เพราะโรคนี้ส่งผลโดยตรงต่อระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้ร่างกายของน้องแมวอ่อนแอลงอย่างมาก จนเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคต่าง ๆ และเกิดโรคแทรกซ้อนได้ง่าย หากตรวจพบโรคนี้ได้เร็ว ก็จะช่วยให้การดูแล และจัดการอาการของพวกเค้าให้เป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ในบทความนี้ เราจะพาคุณพ่อคุณแม่ทุกท่านไปทำความรู้จักกับโรคลิวคีเมียในแมวให้มากยิ่งขึ้น ตั้งแต่อาการเริ่มต้น วิธีสังเกตสัญญาณเตือน ไปจนถึงแนวทางการดูแล และป้องกัน เพื่อให้เจ้านายตัวน้อยของเรามีสุขภาพแข็งแรง และห่างไกลจากโรคร้ายนี้ให้ได้มากที่สุด
โรคลิวคีเมียแมวคืออะไร?
โรคลิวคีเมียในแมว (Feline Leukemia Virus: FeLV) เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส FeLV ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสจำพวกแกมมารีโทรไวรัส (gammaretrovirus) ที่มีสารพันธุกรรมเป็น RNA สามารถพบได้ทั่วโลก ทั้งในแมวบ้าน และสัตว์ตระกูลแมวอื่น ๆ แต่ไม่สามารถแพร่เชื้อไปสู่คน สุนัขหรือสัตว์ชนิดอื่นได้ การติดเชื้อในแมวขึ้นอยู่กับช่วงวัย สุขภาพ และสภาพแวดล้อม
โดยการติดเชื้อไวรัส FeLV จะส่งผลเสียต่อสุขภาพของแมวในหลาย ๆ ด้าน ที่สำคัญคือ
- ระบบภูมิคุ้มกันถูกทำลาย: ภูมิต้านทานลดลง ทำให้แมวป่วยง่าย ติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส หรือเชื้อรา ที่อยู่ในสภาพแวดล้อมได้ง่าย
- ความผิดปกติของระบบเลือด: อาจทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง หรือความผิดปกติอื่น ๆ ของระบบเลือด
- ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง: ทำให้ร่างกายอ่อนแอลงอย่างมาก และเสี่ยงต่อการติดเชื้อฉวยโอกาสต่าง ๆ
- โรคมะเร็ง: เป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดโรคมะเร็งในแมว โดยเฉพาะมะเร็งเม็ดเลือดขาว
อย่างไรก็ตาม แมวที่ติดเชื้อไวรัส FeLV อาจไม่แสดงอาการป่วยใด ๆ เลยก็ได้ โดยเฉพาะในระยะแรก ๆ ของการติดเชื้อหรือในแมวที่มีสุขภาพแข็งแรง แต่เมื่อเวลาผ่านไป อาการป่วยก็จะค่อย ๆ ปรากฏขึ้น และรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ
การแพร่กระจายของเชื้อลิวคีเมีย
เชื้อไวรัส FeLV ในแมวที่ติดเชื้อจะมีปริมาณไวรัสสูงมากในสารคัดหลั่งต่างๆ ของร่างกาย เช่น น้ำลาย เลือด น้ำมูก ปัสสาวะ อุจจาระ และน้ำนม ทำให้เชื้อสามารถแพร่กระจายจากแมวสู่แมวได้หลายช่องทาง ดังนี้
- การสัมผัสโดยตรง : การติดเชื้อส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากการสัมผัสโดยตรงกับสารคัดหลั่งของแมวที่ติดเชื้อ เช่น การเลียขนให้กัน การกัดกัน การใช้ชามอาหารและกระบะทรายร่วมกัน
- การสัมผัสโดยอ้อม : เชื้อไวรัส FeLV สามารถอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้ไม่นาน แต่ก็สามารถแพร่เชื้อได้หากแมวสัมผัสกับสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อ เช่น ชามอาหาร กระบะทราย หรือของเล่น
- การแพร่เชื้อจากแม่สู่ลูก : แม่แมวที่ติดเชื้อ FeLV สามารถแพร่เชื้อไปยังลูกแมวในระหว่างตั้งท้องหรือให้นมได้
แมวที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อลิวคีเมีย
แมวทุกตัวมีโอกาสติดเชื้อ FeLV แต่แมวบางกลุ่มมีความเสี่ยงสูงกว่า ได้แก่
- แมวที่อาศัยอยู่รวมกัน : แมวที่อาศัยอยู่รวมกันในบ้านหรือสถานที่เลี้ยงที่มีแมวหลายตัว จะมีโอกาสสัมผัสเชื้อไวรัส FeLV ได้ง่ายกว่าแมวที่อยู่โดดเดี่ยว
- แมวที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีน : แมวที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกัน FeLV จะไม่มีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัส ทำให้มีโอกาสติดเชื้อได้ง่ายขึ้น
- แมวที่เลี้ยงแบบปล่อย : แมวที่เลี้ยงแบบปล่อยให้วิ่งเล่นภายนอกบ้าน จะมีโอกาสสัมผัสกับแมวอื่นๆ ที่อาจติดเชื้อ FeLV ได้มากกว่าแมวที่เลี้ยงภายในบ้าน
- ลูกแมว : ลูกแมวมีระบบภูมิคุ้มกันที่ยังไม่แข็งแรง ทำให้มีโอกาสติดเชื้อ FeLV ได้ง่ายกว่าแมวโตเต็มวัย
อาการลิวคีเมียแมว สังเกตได้อย่างไร?
แมวที่ติดเชื้อไวรัส FeLV ในระยะเริ่มต้นอาจไม่แสดงอาการป่วยใด ๆ เลยก็ได้ โดยเฉพาะในน้องแมวที่มีสุขภาพแข็งแรง แต่เมื่อเวลาผ่านไป สุขภาพของพวกเค้าจะค่อย ๆ อ่อนแอลง เนื่องจากไวรัสจะเข้าไปทำลายระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้ร่างกายไม่สามารถต่อสู้กับเชื้อโรคต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เมื่อภูมิคุ้มกันของแมวลดลง แมวจะเริ่มแสดงอาการต่าง ๆ ซึ่งอาจมีความหลากหลาย และแตกต่างกันไปในแต่ละตัว แต่โดยทั่วไปแล้ว อาการที่พบได้บ่อย ได้แก่
- แมวมีเบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลด มีลักษณะผอมแห้ง
- ซึม อ่อนแรง
- สุขภาพขนแย่ลง ขนไม่เงางาม
- ต่อมน้ำเหลืองขยายขนาดใหญ่ขึ้น
- มีไข้เรื้อรัง
- เหงือกและเยื่อเมือกซีด
- เหงือกและปากอักเสบ
- มีการติดเชื้อที่ผิวหนัง กระเพาะปัสสาวะและทางเดินหายใจส่วนต้น
- ท้องเสีย
- ชัก มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปจากเดิม และมีความผิดปกติของระบบประสาทอื่นๆ
- พบโรคทางตา
ระยะของลิวคีเมียแมว
โดยทั่วไปแล้ว โรคนี้สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ระยะหลัก ๆ ได้แก่
1. ระยะแรก (Initial infection)
ระยะก่อนแสดงอาการ ในระยะนี้ แมวที่ติดเชื้อไวรัสลิวคีเมียอาจไม่แสดงอาการใด ๆ เลย แมวบางตัวอาจสามารถกำจัดเชื้อไวรัสได้เอง แต่บางตัวเชื้อไวรัสจะยังคงอยู่ในร่างกายและพัฒนาไปสู่ระยะต่อไป
2. ระยะที่สอง (Persistent infection)
ระยะแสดงอาการเริ่มต้น ในระยะนี้ ไวรัสจะเข้าไปฝังตัวอยู่ในไขกระดูก ซึ่งเป็นที่สร้างเม็ดเลือด ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการสร้างเม็ดเลือด เมื่อเชื้อไวรัสเพิ่มจำนวนขึ้น แมวจะเริ่มแสดงอาการป่วยเล็กน้อย เช่น มีไข้ ซึม เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลง ขนร่วง อาการเหล่านี้อาจไม่ชัดเจนและหายไปได้เอง ทำให้เจ้าของแมวหลายคนมองข้าม
3. ระยะที่สาม (Terminal stage)
ระยะแสดงอาการชัดเจน ในระยะนี้ อาการจะชัดเจน และรุนแรงขึ้น เช่น มีไข้สูง ต่อมน้ำเหลืองโต เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลงอย่างเห็นได้ชัด โลหิตจาง อ่อนเพลีย ติดเชื้อแทรกซ้อนได้ง่าย เช่น โรคเหงือก และช่องปากอักเสบ ท้องเสียเรื้อรัง โรคผิวหนัง แมวบางตัวอาจมีอาการทางระบบประสาท เช่น เดินเซ ชักหรือเป็นอัมพาต
การวินิจฉัย และการรักษาโรคลิวคีเมียแมว
เมื่อคุณพ่อคุณแม่เริ่มสังเกตเห็นอาการผิดปกติในแมวที่น่าสงสัยว่าอาจเป็นโรคลิวคีเมีย ควรรีบพาแมวไปพบสัตวแพทย์โดยเร็วที่สุด เพื่อทำการวินิจฉัยโรคอย่างถูกต้อง และแม่นยำ โดยมีขั้นตอนดังนี้
การวินิจฉัย
- การซักประวัติและตรวจร่างกาย: สัตวแพทย์จะทำการซักประวัติการป่วยของแมวอย่างละเอียด รวมถึงสอบถามอาการที่พบ และทำการตรวจร่างกายเพื่อประเมินสุขภาพโดยรวมของแมว
- การตรวจหาเชื้อ FeLV: การตรวจหาเชื้อ FeLV เป็นวิธีที่สำคัญในการยืนยันการติดเชื้อไวรัส FeLV ซึ่งสามารถทำได้โดยการตรวจเลือด โดยชุดตรวจ FeLV test จะช่วยตรวจหาเชื้อไวรัสในเลือดของแมวได้อย่างรวดเร็ว และแม่นยำ
การรักษา
เนื่องจากโรคลิวคีเมียในแมวไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ การรักษาจึงมุ่งเน้นไปที่การรักษาตามอาการที่เกิดขึ้น เพื่อลดโอกาสการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ โดยแนวทางการรักษาอาจมีดังนี้
- การรักษาตามอาการ: การรักษามีเป้าหมายเพื่อบรรเทาอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เช่น การให้ยาลดไข้ แก้ปวดหรือลดการอักเสบ หากมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ก็จะมีการให้ยาปฏิชีวนะเพื่อรักษา และในกรณีที่แมวมีภาวะขาดน้ำ และขาดสารอาหาร ก็จะมีการให้สารน้ำ และสารอาหารทดแทน
- การกระตุ้นภูมิคุ้มกัน: สัตวแพทย์อาจพิจารณาให้ยาหรือสารที่ช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของแมว เพื่อช่วยให้ร่างกายแมวสามารถต่อสู้กับเชื้อไวรัส FeLV ได้ดีขึ้น
- การรักษาแบบประคับประคอง: การรักษาแบบประคับประคองจะมุ่งเน้นไปที่การดูแลให้แมวมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งอาจรวมถึงการให้ยาเพื่อควบคุมอาการต่าง ๆ การดูแลด้านโภชนาการให้ได้รับสารอาหารที่เหมาะสม และการจัดสภาพแวดล้อมที่สะอาด สะดวกสบาย และปลอดภัยสำหรับแมว
วิธีป้องกันโรคลิวคีเมียแมว
เพื่อป้องกันน้องแมวที่คุณรักจากโรคลิวคีเมีย สามารถปฏิบัติตามได้ดังนี้
- การฉีดวัคซีนป้องกัน FeLV : การฉีดวัคซีนเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการป้องกันการติดเชื้อไวรัส FeLV ควรปรึกษาสัตวแพทย์เพื่อวางแผนการฉีดวัคซีนที่เหมาะสมสำหรับน้องแมวของเรา
- เลี้ยงแมวระบบปิด : การเลี้ยงน้องให้อยู่ภายในบ้านหรือในบริเวณที่ปลอดภัย จำกัดการสัมผัสกับแมวตัวอื่น ๆ ที่อาจมีเชื้อไวรัส จะช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อได้อย่างมาก
- ตรวจหาเชื้อ FeLV ในแมวใหม่ : ก่อนรับแมวใหม่ที่มีอายุมากกว่า 8 เดือนหรือแมวจากสถานที่อื่น ๆ มาเลี้ยง ควรทำการตรวจหาเชื้อ FeLV ก่อนเสมอ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อสู่แมวตัวอื่น ๆ ที่คุณเลี้ยงอยู่
- แยกอุปกรณ์สำหรับแมวแต่ละตัว : หากเลี้ยงแมวหลายตัว ควรแยกที่นอน กระบะทราย และอุปกรณ์อื่น ๆ ของแมวแต่ละตัว เพื่อลดโอกาสในการแพร่เชื้อ
- แยกแมวป่วย : หากพบว่าแมวตัวใดป่วย ควรรีบแยกแมวป่วยออกจากแมวตัวอื่น ๆ ทันที รวมถึงแยกอุปกรณ์ และทำความสะอาดบริเวณที่แมวป่วยอยู่ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ
โรคลิวคีเมียแมวเป็นโรคร้ายที่ไม่มีทางรักษาให้หายขาด แต่หากทาสแมวอย่างเราสังเกตอาการได้เร็ว และดูแลอย่างเหมาะสม ก็จะสามารถลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้ได้
ดังนั้น การให้วัคซีน และตรวจสุขภาพเป็นประจำจะช่วยลดความเสี่ยงของโรคนี้ได้ดีที่สุด อย่ารอจนสายไป ตรวจเช็กสุขภาพเจ้านายของคุณวันนี้เพื่อป้องกันโรคลิวคีเมียตั้งแต่เนิ่น ๆ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก :
https://drbillspetnutrition.com/feline-leukemia/
https://www.alleycat.org/resources/feline-leukemia-virus-felv/