คุณพ่อคุณแม่คนไหนที่กำลังประสบปัญหากับกลิ่นเหม็นของลูกรักหรืออาการคันบริเวณต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นคันที่ผิวหนัง หู จนผิวแดง แห้ง ลอก เป็นขุย รวมถึงขนที่หลุดร่วง
ปัญหาเหล่านี้ ส่วนใหญ่แล้วมีสาเหตุมาจากพวกเชื้อราในสุนัขนั่นเอง ซึ่งปกติน้องหมาทุกตัวจะมีเชื้อราและยีสต์อยู่บนผิวหนังเป็นปกติอยู่แล้ว แต่ถ้าพวกเค้าป่วยขึ้นมาหรือภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรง เชื้อพวกนี้ก็จะเติบโตเร็วขึ้น จนกลายเป็นโรคผิวหนังได้
โดยในบทความนี้ จะพาคุณพ่อคุณแม่ไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคผิวหนังจากเชื้อราและยีสต์ในสุนัขอย่างละเอียด เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่สามารถดูแลลูกรักของเราได้อย่างถูกต้อง และเหมาะสมนั่นเอง ถ้าพร้อมแล้วก็ ไปเริ่มกันเลยยย
เชื้อราในสุนัขที่ทำให้เกิดโรคผิวหนัง
หนึ่งในโรคผิวหนังที่พบบ่อย คือ โรคกลากเกลื้อนหรือ Dermatophytosis ซึ่งเป็นการติดเชื้อราที่ผิวหนัง ไม่เพียงแต่จะทำให้น้องหมาคัน และอึดอัดใจ แต่ยังสามารถแพร่กระจายไปสู่คนในครอบครัวได้อีกด้วย
โดยจะส่งผลให้ผิวหนังของคนมีลักษณะเป็นวงแดง ๆ และมีอาการคันได้ ส่วนในสุนัขที่ติดเชื้อ ขนจะหลุดร่วงแหว่งเป็นจุด ๆ เป็นวง มีผื่นแดง, มีสะเก็ด หรืออาจมีตุ่มคล้ายสิวขึ้นบนผิวหนัง ซึ่งมักเกิดขึ้นบริเวณศีรษะ, อุ้งเท้า, หู และขา
ซึ่งโรคนี้เกิดจากเชื้อราชนิด Dermatophytes ซึ่งชอบกินเคราตินเป็นอาหาร ทำให้เชื้อมักพบในบริเวณที่มีเคราติน เช่น ผิวหนัง เล็บ และขน โดยโรคนี้มักเกิดจากเชื้อในตัวใดตัวหนึ่งใน 3 ชนิด คือ
- Microsporum canis พบได้บ่อยที่สุด (ประมาณ 70%)
มักติดจากสปอร์ของเชื้อราที่ปนเปื้อนอยู่ในสิ่งแวดล้อมหรือติดมากับอุปกรณ์ที่ใช้กับสัตว์ - Microsporum gypseum พบประมาณ 20%
มักพบในดิน และอาจติดสู่สุนัขที่สัมผัสกับดินหรือเลี้ยงแบบเปิด - Trichophyton mentagrophytes พบประมาณ 10%
มักพบในสัตว์ฟันแทะ เช่น หนู กระรอก สุนัขอาจติดเชื้อได้จากการสัมผัสกับสัตว์เหล่านี้ได้
การวินิจฉัยโรคกลากเกลื้อน
ปัจจุบันการตรวจโรคกลากเกลื้อนทำได้ง่ายขึ้นด้วยวิธี การส่องกล้องเส้นขน โดยสัตวแพทย์จะเก็บเส้นขนเล็ก ๆ จากบริเวณที่เป็นโรค นำไปส่องดูภายใต้กล้องจุลทรรศน์ เพื่อตรวจหาเชื้อราโดยตรง ซึ่งเป็นวิธีที่ให้ผลการตรวจที่รวดเร็ว และแม่นยำ
การรักษา และป้องกันโรคกลากเกลื้อน
โรคกลากเกลื้อนในสุนัข ถึงแม้จะสามารถหายได้เอง แต่การรักษาอย่างถูกต้องจะช่วยให้สุนัขหายเร็วขึ้น และป้องกันการแพร่กระจายไปยังสัตว์เลี้ยงตัวอื่น ๆ โดยมีวิธีดังนี้
- แยกสุนัขที่ติดเชื้อออกจากสัตว์เลี้ยงอื่น ๆ
- ตัดขนบริเวณที่เป็นแผลให้เกลี้ยง แล้วใช้ยาครีมฆ่าเชื้อราทา
- หากเป็นหลายจุด อาจต้องตัดขนทั้งตัว และอาบน้ำด้วยแชมพูขจัดรังแคหรือแชมพูที่มีส่วนผสมของ Miconazole และ Chlorhexidine สัปดาห์ละ 2 ครั้ง
- ควรล้างมือบ่อย ๆ โดยเฉพาะหลังสัมผัสกับสุนัข เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
โรคผิวหนังจากเชื้อราและยีสต์ในสุนัข
โรคผิวหนังในสุนัขที่พบบ่อย คือ โรคผิวหนังอักเสบจากเชื้อยีสต์ มาลาสซีเซีย พาไคเดอมาติส (Malassezia pachydermatis) มักพบเชื้ออยู่ตามรอยพับของผิวหนัง เช่น หู อุ้งเท้า รักแร้ ขาหนีบ
สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคผิวหนังอักเสบ
- อากาศร้อน และชื้น เพราะจะทำให้ผิวหนังของสุนัขผลิตน้ำมันมากขึ้น ซึ่งเป็นอาหารของเชื้อราและยีสต์ ทำให้ยีสต์เจริญเติบโตได้ดี
- สุนัขบางสายพันธุ์ เช่น Cocker Spaniel, Basset Hound, Dachshund จะมีรูปร่างลักษณะที่ทำให้เกิดความชื้นสะสม เช่น หูยาวและตกลงมา ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดเชื้อราได้ง่าย
- การว่ายน้ำ เพราะน้ำที่เข้าหูจะทำให้เกิดความชื้นสะสม เป็นแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อรา
- การอาบน้ำบ่อย ๆ อาจทำให้ผิวหนังแห้ง และระคายเคือง จนอาจเกิดโรคผิวหนังตามมาได้
- ระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอหรือทำงานผิดปกติจะทำให้สุนัขต่อสู้กับเชื้อโรคได้ยากขึ้น
- สถานที่อยู่อาศัยที่ไม่สะอาดหรือมีสารก่อภูมิแพ้ เช่น ควัน, เชื้อรา, ฝุ่น, รังแค จะกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้และอักเสบของผิวหนัง
อาการที่พบ โดยแบ่งตามตำแหน่งที่ติดเชื้อ
- บริเวณผิวหนัง
- คันรุนแรง
- มีผื่นแดงหรือตุ่มแดง
- ผิวแห้งลอกเป็นขุยหรือมีสะเก็ด
- ผิวมัน
- ผิวมีสีเข้มขึ้น เกิดจากการที่สุนัขเลียบริเวณที่คันบ่อยครั้ง
- ผิวหนังหนาแข็ง เหมือนผิวหนังช้าง
- ขนร่วง ขนจะร่วงเป็นหย่อมๆ หรือร่วงทั้งตัว
- มีกลิ่นเหม็นหืนหรือเหม็นอับ
- บริเวณหู
มักทำให้เกิดโรคหูชั้นนอกอักเสบในสุนัข (Otitis externa) โดยจะแสดงอาการ ดังนี้
- มีขี้หูเยอะ มีลักษณะข้น สีน้ำตาลเหลืองหรือสีดำ
- คันหู สะบัดหูบ่อย
- สั่นหัว และเอียงหัว เพื่อพยายามลดอาการคัน
- ช่องหูแดง และอักเสบ
- มีกลิ่นแรง
- สูญเสียการได้ยิน ในกรณีที่มีการอักเสบรุนแรง
- บริเวณอุ้งเท้า
มักเกี่ยวข้องกับอาการแพ้สิ่งแวดล้อม เช่น แพ้หญ้า หรือละอองเกสร สุนัขจะกัดหรือเลียอุ้งเท้าที่คันอยู่ตลอดเวลา ทำให้เกิดรอยสีน้ำตาลระหว่างอุ้งเท้า
การวินิจฉัยโรคผิวหนังจากเชื้อรา และยีสต์
สัตวแพทย์จะวินิจฉัยโรคเชื้อราและยีสต์ในสุนัขโดยอาศัยข้อมูลหลายอย่างประกอบกัน ได้แก่ การซักประวัติ, การตรวจร่างกาย, การตรวจเลือด รวมถึงการเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจหาเชื้อ ซึ่งมีหลายวิธี ดังนี้
- การขูดเก็บตัวอย่าง (Skin scraping) : เป็นการขูดผิวหนังบริเวณที่เป็นโรคเล็กน้อย เพื่อนำไปตรวจหาเชื้อราและยีสต์ภายใต้กล้องจุลทรรศน์
- การใช้เทปใสกดแปะเก็บตัวอย่าง (Tape impression) : เหมาะสำหรับบริเวณที่ไม่มีขนหรือมีขนน้อย โดยใช้เทปใสกดลงบนผิวหนังบริเวณรอยโรคแล้วนำไปตรวจ
- การใช้ก้านสำลีเก็บตัวอย่าง (Cotton swab) : ใช้สำหรับเก็บตัวอย่างจากช่องหูหรือบริเวณที่เป็นซอกมุม เช่น ซอกเล็บ, ง่ามนิ้ว, ใต้ฝ่าเท้า
- การตรวจเซลล์วิทยา (Cytology) : เป็นการตรวจหาเซลล์ผิดปกติ และเชื้อโรคในตัวอย่างที่เก็บมา
- การเพาะเชื้อ (Culture) : เพื่อยืนยันชนิดของเชื้อราหรือยีสต์ที่เป็นสาเหตุของโรค และเลือกยาที่ใช้ในการรักษาได้อย่างเหมาะสม
- การตัดชิ้นเนื้อผิวหนัง (Skin biopsy) : สำหรับกรณีที่การรักษาด้วยวิธีอื่นไม่ตอบสนองหรือต้องการวินิจฉัยโรคที่ซับซ้อน
การรักษาโรคผิวหนังจากเชื้อรา และยีสต์
โรคผิวหนังจากเชื้อราและยีสต์ในสุนัขนั้นสามารถรักษาให้หายขาดได้ หากได้รับการรักษาที่ถูกต้องและต่อเนื่อง การรักษาโดยทั่วไปจะประกอบด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
- อาบน้ำด้วยแชมพูสูตรเฉพาะ : เลือกใช้แชมพูสุนัขที่ออกแบบมาเพื่อลดปัญหาเชื้อราและยีสต์ ขอแนะนำ แชมพู Pawdy DERMALAZ ที่มีส่วนผสมจากธรรมชาติอย่างขมิ้น ช่วยลดอาการคัน ผิวหนังหลุดลอก และยังอ่อนโยนต่อผิว ลดเชื้อรา และยีสต์ได้ถึง 99%*
- ไม่ระคายเคืองตา เหมาะสำหรับน้องหมาทุกวัย สนใจสั่งซื้อได้ ที่นี่
- ยาทาเฉพาะจุด : หากน้องหมาเป็นเชื้อราเฉพาะบริเวณหูหรือจุดเล็ก ๆ บนผิวหนัง ลองใช้ยาทาเฉพาะที่ตามคำแนะนำของสัตวแพทย์
- ยาสำหรับกิน : สำหรับกรณีที่อาการอักเสบรุนแรงหรือเรื้อรัง สัตวแพทย์อาจจ่ายยาต้านเชื้อรา และยาปฏิชีวนะให้กินร่วมด้วย เพื่อกำจัดเชื้อรา และแบคทีเรียที่อาจซ่อนอยู่ภายในร่างกาย ประมาณ 4 ถึง 12 สัปดาห์ โดยยาต้านเชื้อราที่ให้น้องหมากิน เช่น Ketoconazole, Terbinafine, Itraconazole และ Fluconazole
*ใช้วิธีการทดสอบ ASTM E2315 Suspension Time-Kill Test โดยเจือจางผลิตภัณฑ์ 1 ส่วนต่อน้ำ 5 ส่วน ของขนาดบรรจุ 250 มิลลิลิตร เวลาสัมผัสสาร 5 นาที ในอุณหภูมิ 30 องศา เมื่อใช้เป็นประจำอย่างต่อเนื่อง โดยผลลัพธ์ขึ้นอยู่กับสภาพผิวหนังของสัตว์เลี้ยงแต่ละสายพันธุ์
การป้องกันโรคผิวหนังจากเชื้อราและยีสต์
- เช็ดตัวสุนัขให้แห้งสนิท หลังอาบน้ำหรือเล่นน้ำ
- แปรงขนสุนัขบ่อย ๆ เพื่อขจัดเซลล์ผิวที่ตาย และสิ่งสกปรกออกไป
- ทำความสะอาดหูสุนัข ด้วยผ้าสะอาดหรือสำลี
- หมั่นทำความสะอาดสิ่งแวดล้อมโดยรอบที่น้องหมาอาศัยอยู่
- ให้กินอาหารที่มีคุณภาพ ช่วยบำรุงเส้นขน และผิวหนัง อย่าง Pawdy Holistic ซึ่งมีส่วนผสมจากโปรตีนคุณภาพ ช่วยให้น้องหมาดูดซึม และนำไปใช้ได้ดี อีกทั้งยังมีส่วนช่วยในการบำรุงผิวหนัง และเส้นขน
หลังจากที่เราได้รู้จักกับโรคกลากเกลื้อน และปัญหาผิวหนังจากโรคเชื้อราในสุนัขกันไปแล้ว เพื่อให้น้องหมามีผิวหนังที่สุขภาพดีแข็งแรง คุณพ่อคุณแม่อย่างเรา ๆ ต้องใส่ใจสังเกตอาการของน้องหมากันมากขึ้น และพาน้องหมาไปหาสัตวแพทย์เพื่อทำการรักษาทันทีหากมีอาการผิดปกติ เพื่อป้องกันไม่ให้อาการแย่ลงนั่นเอง
ขอบคุณข้อมูลจาก
1. Krista Williams, Tammy Hunter, Ernest Ward. (n.d.). Yeast Dermatitis in Dogs. Retrieved August 11, 2024, from https://vcahospitals.com/know-your-pet/yeast-dermatitis-in-dogs
2. Kenny M. (n.d.). Yeast Dermatitis in Dogs: Signs and Treatment. Retrieved August 11, 2024, from https://www.germantownah.com/site/blog-memphis-vet/2022/03/15/yeast-dog-dermatitis
3. Brittany Kleszynski. (2024, January 26). Yeast Infections in Dogs. Retrieved August 11, 2024, from https://www.petmd.com/dog/conditions/skin/yeast-infections-dogs
4. Karen A. Moriello. (2020, August). Dermatophytosis in Dogs and Cats. Retrieved August 11, 2024, from https://www.msdvetmanual.com/integumentary-system/dermatophytosis/dermatophytosis-in-dogs-and-cats