การต้อนรับสมาชิกใหม่ตัวน้อยในบ้านเป็นช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้นไม่น้อยเลยทีเดียวสำหรับคุณพ่อคุณแม่ และแน่นอนว่าหน้าที่ของเรานั้นก็คงหนีไม่พ้นการดูแลทั้งแม่แมว และหลาน ๆ ของเราใช่ไหมคะ ดังนั้นวันนี้เราจึงมีคำแนะนำในการดูแลคุณแม่แมว และลูก ๆ หลังคลอดสำหรับบ้านที่กำลังจะได้ต้อนรับสมาชิกใหม่มาฝากกันค่ะ
โดยปกติแม่แมวมักจะมีสัญชาตญาณในการเลี้ยงลูกติดตัวอยู่แล้ว คุณพ่อคุณแม่อย่างเราจึงมีหน้าที่หลักในการให้พื้นที่ส่วนตัวที่สงบ และปลอดภัยสำหรับน้อง รวมทั้งคอยหมั่นสังเกตเพื่อช่วยเหลือเพิ่มเติมเท่าที่จำเป็นเท่านั้นเองค่ะ ทีนี้มาดูกันดีกว่า ว่าเราจะสามารถช่วยน้อง ๆ ได้อย่างไรบ้าง
การเตรียมความพร้อมก่อนคลอด
การเตรียมความพร้อมก่อนคลอดลูกแมวเป็นสิ่งสำคัญมากที่จะช่วยให้ทั้งคุณแม่แมว และลูกน้อยแข็งแรงปลอดภัย โดยจะมีวิธีการเตรียมตัวดังนี้
1. พื้นที่คลอดหรือเลี้ยงลูก
ควรมีความอบอุ่นกำลังดี พร้อมระบายอากาศได้สะดวก เพื่อป้องกันลูกแมวตัวน้อยจากอาการหนาวสั่น และสุขภาพไม่แข็งแรง เพราะลูกแมวยังควบคุมอุณหภูมิร่างกายเองไม่ได้ดีเท่าที่ควร อาจทำให้เสี่ยงต่อภาวะอุณหภูมิร่างกายต่ำกว่าปกติได้ง่าย
2. พื้นที่ส่วนตัวสำหรับคุณแม่ และลูกน้อย
ต้องมีความกว้างพอเหมาะ เพื่อให้พวกเค้าสามารถกลับตัว ยืดตัวหรือเปลี่ยนที่ไปมาได้สะดวก แต่ก็ไม่ควรกว้างเกินไปจนทำให้น้องรู้สึกว่าไม่ปลอดภัย
3. สร้างสภาพแวดล้อมที่สงบสุขให้คุณแม่ และลูก
ทั้งบริเวณรอบข้าง และบริเวณใกล้เคียงที่อาจทำให้แมวเครียดได้ เช่น เสียงดัง และสัตว์อื่น ๆ
4. แผ่นรองซับควรสะอาด และแห้งอยู่เสมอ
ควรใช้แผ่นรองซับปัสสาวะแบบที่เปลี่ยนง่าย สะอาด และแห้งอยู่เสมอ เพื่อป้องกันเชื้อโรค และกลิ่นไม่พึงประสงค์
ส่วนกระบะทราย ควรทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ โดยตักทรายแมวที่เป็นก้อนออกอย่างน้อยวันละ 1-2 ครั้ง และล้างกระบะทรายให้สะอาดทุกสัปดาห์ เพื่อป้องกันของเสียสะสมจนเกิดกลิ่นที่ระคายเคืองทางเดินหายใจของคุณแม่ และเด็ก ๆ ได้
5. จัดเตรียมพื้นที่เลี้ยงให้ปลอดภัยที่สุด
เพื่อความปลอดภัยของแม่แมว และลูกแมว นอกจากต้องจัดเตรียมพื้นที่เลี้ยงให้สะอาด และปลอดภัย ควรนำสิ่งของที่อาจเป็นอันตรายออกไปจากพื้นที่เลี้ยงด้วย เช่น
- หลีกเลี่ยงของมีคม – เช่น กรรไกร คัตเตอร์หรือวัตถุแหลมคมอื่น ๆ ที่อาจทำให้แมวบาดเจ็บได้
- ผ้าหนา – ผ้าห่ม ผ้าปูที่หนามากเกินไป อาจทำให้ลูกแมวเข้าไปติดอยู่จนน้องหายใจไม่ออกได้
- ที่สูง – คอนโดแมวหรือที่ปีนป่ายต่าง ๆ เพราะอาจทำให้ลูกแมวตกลงมาและบาดเจ็บได้
เลือกอุปกรณ์เลี้ยงลูกแมวให้ปลอดภัย
แม้ว่าอุปกรณ์ที่เราใช้กับแม่แมวทั่วไปจะดูปลอดภัย แต่บางอย่างอาจเป็นอันตรายต่อลูกแมวตัวน้อยได้
- ชามน้ำ ควรเลือกชามน้ำที่ตื้น ๆ เพราะชามน้ำที่ลึกเกินไปอาจทำให้น้องแมวจมน้ำได้ถ้าพลัดตกลงไป
- ทรายแมว เลือกทรายแมวที่ปลอดภัยสำหรับลูกแมว เพราะทรายแมวที่มีฝุ่นเยอะหรือทำจากวัสดุที่ไม่ปลอดภัย อาจทำให้น้องแมวหายใจลำบากหรือป่วยได้หากเผลอกินเข้าไป จึงควรเลือกทรายแมวที่ทำจากธรรมชาติ ฝุ่นน้อย และดูดซับได้ดี
การดูแลแม่แมว และลูกแมวหลังคลอด
ช่วงเวลาหลังคลอดเป็นช่วงที่สำคัญที่สุดสำหรับการเจริญเติบโตของลูกแมว การได้รับการดูแลที่ดีจากแม่แมว และการดูแลเสริมจากคุณพ่อคุณแม่ จะช่วยให้ลูกแมวมีภูมิคุ้มกันแข็งแรง และเติบโตเป็นแมวที่แข็งแรงสมบูรณ์ได้นั่นเอง
การดูแลแม่แมวหลังคลอด
1. สังเกตพฤติกรรมแม่แมวก่อนเข้าใกล้
ก่อนจะเข้าใกล้แม่แมวและลูกๆ ลองสังเกตพฤติกรรมของแม่แมวก่อนนะคะ ว่าเค้าพร้อมให้เราเข้าใกล้ได้แล้วหรือยัง บางทีแม่แมวอาจจะยังต้องการพื้นที่ส่วนตัวเพื่อดูแลลูกๆ อยู่ก็ได้ เช่น แม่แมวคาบลูกหนีไปที่อื่น ซึ่งอาจเป็นเพราะแม่แมวรู้สึกว่าที่เดิมไม่ปลอดภัยหรือไม่อบอุ่นพอ
ในกรณีแบบนี้ คุณพ่อคุณแม่ควรที่จะเว้นระยะห่างให้น้องรู้สึกปลอดภัย และจัดหาพื้นที่ที่อบอุ่น สะอาด ไม่มีสิ่งรบกวนให้ใหม่ เช่น กล่องหรือคอกคลอด และเลี้ยงลูกสำหรับสัตว์เลี้ยง
2. สังเกตอาการของแม่แมว และลูกแมวอยู่เสมอ
การหมั่นสังเกตอาการแม่แมว และลูกแมวเป็นสิ่งสำคัญในการดูแลหลังคลอดอย่างมาก หากพบว่าลูกแมวมีอาการผิดปกติ เช่น หอบมาก ซึม รวมถึงแม่แมว หากพบว่าไม่สบาย ควรรีบปรึกษาสัตวแพทย์โดยทันที เพื่อให้พวกเค้าได้รับการรักษาที่ถูกต้อง
3. รู้จักพฤติกรรมตามปกติของแม่แมว
เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่สามารถเปรียบเทียบได้ว่ามีสิ่งใดที่ผิดปกติไปบ้างในระหว่างการเลี้ยง เช่น โดยปกติแม่แมวมักจะเลียลูกแมวเพื่อกระตุ้นให้ลูกหายใจ และขับถ่าย แต่ถ้าแม่แมวไม่ทำแบบนี้ เราอาจต้องช่วยเช็ดจมูกให้ลูกแมวเอง เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกแมวหายใจไม่ออก การสังเกตพฤติกรรมของแม่แมวจะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่ดูแลลูกแมวได้อย่างใกล้ชิดและปลอดภัยมากขึ้น
4. เตรียมอาหาร และน้ำสะอาดไว้ให้แม่แมว และลูกแมวเสมอ
คุณพ่อคุณแม่ควรให้อาหารแมวแม่เป็นสูตรพิเศษ ที่ออกแบบมาสำหรับแมวตั้งท้องและให้นมลูกโดยเฉพาะ อาหารสูตรนี้จะมีสารอาหารครบถ้วน ทั้งโปรตีน วิตามิน และแร่ธาตุต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของลูกแมวในท้อง และช่วยให้แม่แมวมีสุขภาพแข็งแรง เช่น สารเบต้า-กลูแคน ที่จะช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แม่แมว และลูกแมวแข็งแรงป้องกันโรคต่าง ๆ ได้ดีขึ้น โดยสามารถหาซื้ออาหารสูตรนี้ได้ง่ายตามร้านขายสัตว์เลี้ยงทั่วไป เพียงแค่มองหาสูตร “Mother & Kitten”
ขอแนะนำ Pawdy Holistic Mother and Kitten สูตรทูน่าผสมนมแพะ ดูแลครบทั้งแม่ และลูก โปรตีนสูง อุดมไปด้วยไขมันดี โอเมก้า 3 ดูดซึมได้ง่าย ดีต่อระบบย่อยอาหาร หัวใจ หลอดเลือด และระบบภูมิคุ้มกัน พร้อมสารเบต้า-กลูแคน ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกัน ลดการติดเชื้อ สนใจสั่งซื้อได้ ที่นี่
5. สังเกตเต้านมของแม่แมวในทุก ๆ วัน
ควรตรวจดูเต้านมของแม่แมวทุกวัน เพราะการให้นมลูกอาจทำให้เต้านมอักเสบ บวม แดงหรือติดเชื้อได้ ซึ่งเป็นภาวะที่ต้องได้รับการรักษาจากสัตวแพทย์
หากแม่แมวมีอาการป่วย เช่น ซึม เบื่ออาหารหรือมีไข้ ขณะเลี้ยงลูก ไม่ควรซื้อยามาให้แม่แมวกินเอง เพราะยาบางชนิดอาจเป็นอันตรายต่อลูกแมวได้เมื่อได้รับผ่านทางน้ำนม ควรพาแม่แมวไปพบสัตวแพทย์เพื่อรับคำแนะนำ และการรักษาที่เหมาะสม
การดูแลลูกแมวหลังคลอด
1. ตรวจสอบจำนวนลูกแมวหลังคลอด
หลังจากแม่แมวคลอดลูกเสร็จแล้ว ให้ตรวจนับว่าจำนวนลูกแมวตรงกับภาพถ่าย X-ray หรือไม่ หากพบว่าลูกแมวยังไม่ครบตามจำนวนหรือแม่แมวมีอาการผิดปกติ เป็นไปได้ว่าแม่แมวอาจมีภาวะคลอดยาก ในกรณีที่ไม่ทราบว่ามีลูกกี่ตัวให้สังเกตอาการของแม่แมว ถ้าพบว่ามีอาการผิดปกติควรพาไปพบสัตวแพทย์โดยทันที เพื่อตรวจสอบ และรักษา
2. ตรวจสอบชีพจรของลูกแมว
ดูว่าลูกแมวทุกตัวหายใจ และขยับตัวได้ปกติหรือไม่ หากพบว่าน้องมีความผิดปกติควรพาไปพบสัตวแพทย์ทันที
3. ให้ลูกแมวได้กินน้ำนมจากเต้าหลังคลอด
ลูกแมวตัวควรได้ดูดนมแม่แมวตั้งแต่เกิดนะคะ โดยเฉพาะนมน้ำเหลืองจากแม่แมวที่จะออกมาในช่วงแรกหลังคลอด ซึ่งเปรียบเสมือนวัคซีนธรรมชาติ เพราะนมน้ำเหลืองมีสารอาหาร และภูมิคุ้มกันที่ช่วยให้ลูกแมวแข็งแรง ป้องกันโรคได้ดี หากลูกแมวยังไม่เข้าไปดูดนมเอง คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยจับลูกแมวเข้าเต้าแม่แมวได้เลย
4. หมั่นสังเกตว่าเด็ก ๆ มีร่างกายที่สมบูรณ์
ถ้าลูกแมวผอมเกินไป อาจเป็นเพราะได้กินนมแมวไม่พอ อาจเพราะได้กินนมแม่น้อยไปหรือพี่น้องตัวอื่นแย่งกินหมด หากเป็นแบบนี้ คุณพ่อคุณแม่อาจต้องพิจารณาสารเสริมทดแทนนมมาให้น้องกิน เพื่อให้ลูกแมวแข็งแรงและโตไวตามวัย
การชั่งน้ำหนักลูกแมวเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยได้ เพราะจะรู้ได้ทันทีเลยว่าลูกแมวน้ำหนักเพิ่มขึ้นหรือลดลง แต่หากชั่งบ่อยเกินไป ลูกแมวกับแม่แมวอาจจะเครียดได้ ควรลองชั่งเพียงสัปดาห์ละครั้งก็พอ
5. ปรับเปลี่ยนอาหาร
เมื่อลูกแมวอายุประมาณ 6-8 สัปดาห์ ซึ่งเป็นช่วงที่ลูกแมวจะเริ่มกินนมน้อยลง คุณพ่อคุณแม่สามารถเริ่มให้อาหารเม็ดสูตร “Mother & Kitten” ได้เลย อาหารสูตรนี้มีส่วนผสมที่เหมาะสมกับความต้องการของทั้งแม่แมวที่ให้นม และลูกแมวที่กำลังโต ช่วยให้ทั้งคู่ได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน
6. การรับวัคซีน
เมื่อลูกแมวอายุได้ประมาณ 2 เดือน คุณพ่อคุณแม่ควรพาไปหาสัตวแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพทั่วไป และวางแผนในการทำวัคซีนรวมทั้งการถ่ายพยาธิให้ครบตามวัย เพื่อให้พวกเค้าแข็งแรง ปลอดภัยจากโรคต่าง ๆ
เห็นไหมคะว่า การต้อนรับสมาชิกใหม่ตัวน้อย ๆ เข้าบ้าน ไม่ได้ยากอย่างที่คิดเลย เราสามารถช่วยคุณแม่แมวมือใหม่ได้ง่าย ๆ ด้วยการหาข้อมูลเตรียมตัวล่วงหน้า เช่น เตรียมอุปกรณ์ที่จำเป็น การพาแม่แมวไปหาสัตวแพทย์ รวมถึงศึกษาวิธีดูแลทั้งแม่แมว และลูกแมวหลังคลอด ก็จะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่สามารถดูแลแมวแม่ และลูกแมวได้อย่างมีประสิทธิภาพ
และอย่าลืม ถ้าอยากหาอาหารที่เหมาะสำหรับแม่แมว และลูกแมว ลองดู Pawdy Holistic Mother and Kitten สูตรทูน่าผสมนมแพะ สามารถสั่งศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม และสั่งซื้อได้ ที่นี่
สุดท้ายนี้สำหรับบ้านไหนที่กำลังจะมีลูกแมวน้อยมาวิ่งเล่นในบ้าน พวกเราก็ขอส่งกำลังใจถึงคุณแม่แมว และนุดทุกคนให้เลี้ยงลูกแมวน้อย ๆ ได้แข็งแรง น่ารัก และเติบโตมาในบ้านที่แสนอบอุ่นนะคะ