ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ปัจจุบันจำนวนสุนัขสูงวัยมีเพิ่มมากขึ้นกว่าในอดีต ด้วยวิทยาการด้านการวินิจฉัย และการรักษาโรคทางสัตวแพทย์ที่ดีขึ้น รวมถึงการเลี้ยงดูของเจ้าของสุนัขในปัจจุบันที่มีความรู้ ความใส่ใจดูแลตั้งแต่เรื่องอาหาร การดูแลสุขภาพเบื้องต้น ได้แก่ การทำวัคซีน การทำหมัน และรูปแบบการเลี้ยงที่ลดโอกาสเสียชีวิตคือการเลี้ยงระบบปิด ทำให้ประชากรสุนัขสูงวัยในปัจจุบันเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ
ดังนั้นเมื่อเราต้องรับมือกับการเลี้ยงดูสุนัขสูงวัย ที่จะมีความเสื่อมตามวัยเช่นเดียวกับคน และสิ่งมีชีวิตทุก ๆ ชนิด เราจึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจ และรู้เท่าทันเพื่อเตรียมรับมือกับโรคหรือความผิดปกติต่าง ๆ ที่มักจะเกิดขึ้นกับสุนัขสูงวัย ดังต่อไปนี้
โรคไตวายเรื้อรังหรือไตเสื่อมเรื้อรังในสุนัขสูงวัย
โรคไตวายเรื้อรัง หรือไตเสื่อมเรื้อรัง (Chronic kidney disease ; CKD) คือโรคที่มีความผิดปกติของการทำงานหรือโครงสร้างของไตเป็นเวลาอย่างน้อย 3 เดือน ซึ่งถือได้ว่าเป็นโรคอันดับต้น ๆ ที่ควรเฝ้าระวังในสุนัขสูงวัย เพราะโรคนี้เป็นโรคที่ไม่มีวิธีการรักษาที่หายขาด แต่จะเป็นการรักษาเพื่อชะลอการดำเนินไปของโรคให้ไตเสื่อมเพิ่มช้าลง และเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับสุนัขสูงวัยได้มีชีวิตที่มีความสุขที่สุด ในช่วงเวลาที่ได้รับการรักษาหลังจากตรวจพบ
สำหรับในทางสัตวแพทย์ ได้มีการแบ่งระยะของไตเสื่อมเรื้อรังไว้ 4 ระยะ โดยใช้ค่า Creatinine หรือที่หลาย ๆ ท่านเรียกว่าค่าไต เป็นตัวหลักในการกำหนดความรุนแรงตามเกณฑ์ของสมาคมที่ให้ความรู้โรคไตในสัตว์เลี้ยง (International Renal Interest Society ; IRIS) ซึ่งพบว่าสุนัขสูงวัยที่มีความเสื่อมของไตระยะที่ 3 ขึ้นไปจึงจะแสดงความผิดปกติในระดับที่เจ้าของสังเกตเห็นได้ ซึ่งทำให้สุนัขสูงวัยส่วนใหญ่หลังจากตรวจพบว่ามีภาวะไตเสื่อม ก็มักจะมีอายุขัยเฉลี่ยที่ไม่ยาวนานเท่าที่ควร
อาการที่มักพบในสุนัขไตเสื่อมเรื้อรัง :
- กินน้ำเยอะ
- ปัสสาวะเยอะและสีอ่อน
- ร่างกายขาดน้ำ
- กินอาหารลดลง
- น้ำหนักค่อย ๆ ลด
สุนัขสูงวัยบางตัวที่มีค่าไตสูงมาก อาการจะรุนแรงขึ้น :
- อาเจียน
- ถ่ายเหลวสีเข้ม
- มีกลิ่นปาก
- สุนัขบางตัวอาจชักได้
โรคข้อเสื่อมในสุนัขสูงวัย
โรคที่ต้องเฝ้าระวังลำดับถัดมา คงหนีไม่พ้น โรคข้อเสื่อม (osteoarthritis ; OA) ซึ่งชื่อโรคก็บ่งบอกถึงความเสื่อมที่เกิดขึ้นในข้อต่อ และเนื้อเยื่อข้างเคียงที่มีการใช้งานมาตลอดชีวิตของสุนัข เป็นส่วนที่ต้องรองรับการกระแทกในทุกครั้งที่สุนัขมีการเคลื่อนไหว เป็นโรคเรื้อรังที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของสุนัขสูงวัยโดยตรงเพราะส่งผลให้การทำงานของข้อต่อแย่ลง และสร้างความเจ็บปวดให้สุนัขสูงวัยเป็นอย่างมาก
ความผิดปกติที่พบในข้อต่อที่เรียกว่าข้อเสื่อม คือ กระดูกอ่อนการสึกกร่อน และเกิดกระดูกงอก (osteophytosis) รอบๆข้อ ส่งผลให้ทุกครั้งที่มีการขยับข้อต่อ จะเกิดการเสียดสีของกระดูก และเกิดความเจ็บปวด ซึ่งปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคข้อเสื่อมที่ไม่ได้มีสาเหตุอื่นนำ (Primary Osteoarthritis) มีหลายปัจจัยได้แก่ พันธุกรรมตามสายบรรพบุรุษ โครงสร้างร่างกาย สายพันธุ์ น้ำหนักตัวที่มากเกินไป อายุที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการใช้งานข้อต่อที่มากเกินไป
อาการที่มักพบในสุนัขข้อเสื่อม : สุนัขเคลื่อนไหวลดลง ช้าลง เมื่อต้องการเปลี่ยนท่าทางจากนอนเป็นยืนจะใช้เวลานาน ขึ้นลงบันไดลดลง เดินกะเผลก และในกรณีที่ข้อเสื่อมมาเป็นระยะเวลานาน อาจพบกล้ามเนื้อฝ่อลีบได้
ภาวะสมองเสื่อมในสุนัขสูงวัย
ภาวะสมองเสื่อมในสุนัขสูงวัย (Canine cognitive dysfunction ; CCD) เป็นกลุ่มอาการนึงที่มักพบในสุนัขสูงวัย อายุ 8 ปีขึ้นไป เนื่องจากเกิดความเสื่อมกับเซลล์ในระบบประสาท ส่งผลให้สุนัขมีพฤติกรรมที่ผิดปกติ เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม รวมถึงความทรงจำต่าง ๆ ทั้งการจำคน จำสถานที่ จำเส้นทางไม่ได้เหมือนเดิม และในบางตัวจะมีความบกพร่องในการรับรู้ และการแสดงออกของระบบประสาทที่ผิดปกติ คล้ายคลึงกับอาการอัลไซเมอร์ในคนนั่นเอง
5 กลุ่มอาการที่มักพบในสุนัขสมองเสื่อม
1. มีอาการอาการมึนงง
Disorientation สุนัขจะงงกับสถานที่ งงกับการกระทำของตัวเอง อาจจะไม่กล้าก้าวเดิน หรืออาจเดินไปเรื่อย ๆไม่มีจุดหมาย บางตัวอาจเดินวนเป็นวงกลม เป็นต้น
2. ปฏิสัมพันธ์ผิดไปจากปกติ
Interactions หรือปฏิสัมพันธ์ของสุนัขกับเจ้าของและสัตว์เลี้ยงตัวอื่น ๆ ผิดปกติไป สุนัขจะไม่เข้าหาเจ้าของ ไม่เข้าหาสุนัขแมวที่เลี้ยงร่วมกัน ถูกชวนเล่น อาจแสดงอาการก้าวร้าว ดุ เห่า กัดได้
3. วงจรการหลับตื่นผิดปกติไป
Sleep-wake cycle วงจรการหลับตื่นผิดปกติไป เช่น นอนนานขึ้นติดต่อกันหลายชั่วโมง นอนกลางวันตื่นกลางคืน ตื่นมาแล้วเดินเรื่อยเปื่อยจะเดินจนกว่าจะเหนื่อยหรือตื่นมาแล้วเห่าโวยวายไม่มีสาเหตุ
4. พฤติกรรมการขับถ่ายที่ผิดปกติ
House Soiling พฤติกรรมการขับถ่ายที่ผิดปกติ ขับถ่ายไม่เป็นที่ ขับถ่ายบ่อยไม่เป็นเวลา
5. กิจกรรมที่เปลี่ยนไป
Activity กิจกรรมที่เปลี่ยนไป จำของเล่น การเล่นที่เคยเล่นไม่ได้ ซึ่งอาการอาจมีไม่ครบทั้ง 5 กลุ่มอาการในตอนเริ่มป่วย แต่ถ้าไม่ได้รับการดูแล รักษา อาการก็จะแสดงมากขึ้น
เนื้องอกหรือมะเร็งในสุนัขสูงวัย
เนื้องอกหรือมะเร็ง (Tumor or Cancer) สำหรับกลุ่มอาการเนื้องอก และมะเร็ง เกิดจากการเพิ่มจำนวนของเซลล์ที่ผิดปกติของแต่ละอวัยวะที่เกิด ซึ่งเซลล์เนื้องอกที่แบ่งตัวผิดปกตินี้ไม่ใช่เซลล์ที่ทำหน้าที่ได้ และการแบ่งตัวที่รวดเร็วก็จะกดเบียดทำลายเซลล์ปกติให้ตายไป ส่งผลให้อวัยวะเกิดความเสียหาย และล้มเหลวในที่สุด ซึ่งเมื่อเซลล์ปกติเกิดการตาย ร่างกายก็จะมีการตอบสนองทั้งในด้านของการอักเสบต่าง ๆ ส่งผลให้อวัยวะบริเวณที่เกิดเนื้องอกมีเลือดมาเลี้ยงมาก มีเซลล์อักเสบเข้ามามาก เกิดความเจ็บปวดจากสารต่าง ๆ ที่ร่างกายผลิตขึ้นมาตามกลไกที่ต้องการจะรักษาสมดุล และป้องกันเซลล์ปกตินั่นเอง
อาการที่มักพบ : อาการร่วมของมะเร็งต่าง ๆ สุนัขสูงวัยมักจะมีอาการ
- ซึม
- กินลดลง
- น้ำหนักตัวลด
- อาจมีไข้เป็น ๆ หาย ๆ
เนื้องอก และมะเร็งในส่วนที่ปกคลุมร่างกาย จะมีลักษณะของก้อนที่ผิดปกติ คือโตเร็วผิดปกติ รูปร่างอาจกลม รี หรือไม่มีรูปทรงชัดเจน สีของก้อนเนื้อจะแตกต่างกันตามชนิดของเนื้องอก ได้แก่ สีปกติ สีแดง สีคล้ำ เป็นต้น หรืออาจเป็นลักษณะของแผลเรื้อรัง
สุนัขอาจไม่มีอาการใด ๆ ในช่วงแรก แต่ในระยะต่อมา มักมีอาการเจ็บปวด อาจเกาหรือกัดแทะตำแหน่งเนื้องอกให้ก้อนเนื้อแตกได้
เนื้องอกหรือมะเร็งที่อวัยวะภายใน อาจทำให้เกิดอาการที่แตกต่างกันตามระบบต่าง ๆ ได้แก่
- หายใจถี่
- หายใจลำบาก
- ปวดท้อง
- อาเจียน
- ถ่ายเหลว
- ปัสสาวะผิดปกติ
- ปัสสาวะปนเลือด
- มีอาการระบบประสาท หรือเจ็บขา
*ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นกับว่าเนื้องอกไปอยู่ที่อวัยวะส่วนใด
นอกจากโรคใน 4 กลุ่มข้างต้นแล้ว ยังมีความเสื่อมในระบบอื่น ๆ ที่ต้องเฝ้าระวัง ได้แก่ ดวงตา ทางเดินอาหาร ระบบสืบพันธุ์ และผิวหนัง ที่มักจะมีความผิดปกติไปตามวัยได้ ซึ่งถ้าเราสังเกตเห็นอาการความผิดปกติต่าง ๆ ได้เร็ว และเข้ารับการรักษาตั้งแต่ในระยะแรก ๆ ก็อาจจะทำให้สุนัขสูงวัยของเรามีคุณภาพชีวิตที่ดี และอยู่กับเราไปได้นานอีกหลาย ๆ ปีก็ได้นะคะ